- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 28 July 2024 20:29
- Hits: 8460
พาณิชย์ ข้ามฝั่งจับมือชื่นมื่นฝ่ายฉานเมียนมา แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดนลดเสี่ยงการค้าสะดุด
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นหัวหน้าคณะหารือกับนายคุนเต็งหม่อง (Khun Thein Maung) รัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐฉาน และนายไซเล็ก (Sai Late) รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติรัฐฉาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลส่วนกลาง และคณะผู้บริหารรัฐฉาน ณ จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า รัฐฉาน เป็นรัฐที่มีการทำเกษตรกรรมมากที่สุดของเมียนมาและเป็นรัฐที่ส่งออกสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาที่ไทยเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 ล้านตัน เพราะผลผลิตของไทยไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัญหามลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไฟป่า แต่ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า การเผาเพื่อทำการเกษตรก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศทั้งของไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือ และของเมียนมาเอง
ประกอบกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาที่ไทยนำเข้าถูกใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทางของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของสินค้าส่งออกสำคัญของไทย นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาออกกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาจากเมียนมา จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีช่วยฯ ได้ย้ำกับผู้บริหารรัฐฉานว่าทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งเรื่องไฟป่าและการเผาเพื่อการทำการเกษตร
นายดวงอาทิตย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือด้วยบรรยากาศมิตรภาพ และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขไปที่สาเหตุทั้งที่เกิดในพื้นที่ป่า และการเผาเพื่อทำเกษตร โดยเมียนมาพร้อมร่วมมือทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อาทิ การแบ่งปันองค์ความรู้การดับไฟป่า การสนับสนุนอุปกรณ์การดับไฟป่า
ความร่วมมือเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลจุดการเผา (Hot Spot) การจัดการพื้นที่ก่อนปลูกและหลังเก็บเกี่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่มในการนำต้นและฝักข้าวโพดไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือนำซังข้าวโพดไปทำปุ๋ยแทนการเผา เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นทางการค้าที่จะทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น
นายดวงอาทิตย์ กล่าวตอนท้ายว่า การประชุมครั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องในการอธิบายและให้ข้อมูลกับฝ่ายเมียนมา อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
และหน่วยงานในจังหวัดเชียงราย เพื่อตอบสนองต่อประเด็นที่สำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศระหว่างกันในอนาคต และประเด็นปัญหาด้านมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงจะหารือเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพในอีกสามเดือนข้างหน้า ณ จังหวัดเชียงใหม่
ไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีละประมาณ 4.8 – 5 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 8 ล้านตัน (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย) ดังนั้น จึงยังมีความจำเป็นต้องนำเข้า โดยปี 2564 – 2566 ไทยมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 94 จากการนำเข้าทั้งหมด
โดยปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.) นำเข้าจากเมียนมา เป็นอันดับ 1 เช่นกัน โดยมีการนำเข้าปริมาณ 0.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 83 จากการนำเข้าทั้งหมด 1.09 ล้านต้น รองลงมาได้แก่ สปป. ลาว 0.18 ล้านตัน และกัมพูชา 0.004 ล้านตัน (ข้อมูลจากกรมศุลกากร)