- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 15 January 2015 22:19
- Hits: 2188
เปิดยุทธศาสตร์ดันส่งออกโต 4%
บ้านเมือง : พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีการทบทวนยุทธศาสตร์การส่งออกใหม่ หลังมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ โดยกระทรวงพาณิชย์จะยังคงเป้าหมายการส่งออกของประเทศปีนี้ที่ 4% ตามเดิม ซึ่งจะบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภายในและภายนอก โดยเน้นเจาะตลาดเชิงรุกหาสินค้าใหม่และใช้วัตถุดิบจากบางประเทศเป็นฐานการผลิตของสินค้าไทย เช่น แอฟริกา และเอเชียใต้ รวมทั้งสนับสนุนการค้าชายแดน ซึ่งจะมีแผนการเดินทางโรดโชว์ เพื่อเจาะตลาดที่ชัดเจน โดยวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.) จะเดินทางไปฮ่องกงเพื่อเจรจาซื้อขายข้าว จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์จะเดินทางไปเยือนประเทศอินเดียและรัสเซียในโอกาสต่อไป
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มั่นใจว่าด้วยยุทธศาสตร์การทำงานที่ชัดเจนของกระทรวงพาณิชย์ จะทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 4% แม้หลายหน่วยงานจะประเมินว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 4%
นายไอฮาน โคเซ ผู้อำนวยการฝ่ายแนวโน้มการพัฒนาของธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2557 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศมีการขยายตัวที่น่าผิดหวัง เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู), ญี่ปุ่น, ละตินอเมริกา และประเทศตลาดเกิดใหม่ในยุโรป โดยเฉพาะรัสเซีย
ธนาคารโลก ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะยังคงปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 เพราะได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่อ่อนแรงลง รวมทั้งความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงช่วงขาลง เช่น การค้าทั่วโลกที่ซบเซาต่อเนื่อง รวมทั้งความเป็นไปได้เกี่ยวกับภาวะผันผวนในตลาดการเงิน ขณะที่ประเทศรายใหญ่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกรอบเวลาที่แตกต่างกัน, ราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และมีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซนหรือญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวรวดเร็วขึ้นสู่ระดับ 3.2% ในปี 2558 จากระดับ 2.4% ในปี 2557 หลังจากนั้นจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3% ในปี 2559 และ 2.4% ในปี 2560 ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 7.1% ในปี 2558 ซึ่งต่ำกว่าปี 2557 ที่ขยายตัว 7.4% และคาดว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงมาอยู่ที่ 7% ในปี 2559 และ 6.9% ในปี 2060 เนื่องจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของจีน เช่น การถอนมาตรการกระตุ้นด้านการคลังอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ