WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ชะลอแก้กม.ต่างด้าว เหตุไทยยังต้องพึ่งการลงทุนจากตปท.

  นายชัยณรงค์ โชไชย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนธ.ค.57 กรมฯ ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พิจารณาแล้ว โดยเสนอให้ชะลอการปรับปรุงแก้ไขออกไปก่อน เพราะจากการประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะแก้ไข เนื่องจากประเทศไทยยังต้องการการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี การแก้ไขกฎหมายนี้อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นมาลงทุนในไทยได้ ซึ่ง รมว.พาณิชย์เห็นชอบตามที่กรมฯ เสนอ แต่กรมฯ ยังดำเนินการแก้ไขบัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.นี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น

   ด้านน.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การเสนอให้ชะลอการแก้ไขกฎหมายออกไปก่อน เป็นเพราะได้พิจารณาจากภาพรวมของเศรษฐกิจ ภาวะการลงทุนของประเทศ ไม่ใช่เกิดจากแรงกดดันของนักลงทุนต่างประเทศแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี กรมฯ ยังเดินหน้าตรวจสอบนอมินีหรือการที่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติในธุรกิจต้องห้าม หรือธุรกิจที่ต้องมาขออนุญาตอย่างต่อเนื่อง

  สำหรับ การแก้ไขบัญชีแนบท้าย 3 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น ในเร็วๆ นี้จะเสนอคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบให้นำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจประภัยออกจากบัญชีดังกล่าว เพราะมีหน่วยงานและกฎหมายกำกับดูแลอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้คนต่างด้าวที่ต้องการทำธุรกิจทั้ง 2 ในไทย ไม่ต้องมาขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สามารถขออนุญาตได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประภัย(สำนักงานคปภ.) แต่สำหรับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องของธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจประกันภัย เช่น ธุรกิจลีสซิ่ง, ธุรกิจให้กู้ยืมในเครือ, ธุรกิจให้คำปรึกษาในเครือ เป็นต้น ยังต้องมาขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ อยู่

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบให้ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในประเด็นคำนิยามของคนต่างด้าว เพื่อป้องกันปัญหานอมินี โดยกำหนดให้คำนิยามต้องพิจารณาถึงอำนาจการบริหารจัดการ และสิทธิในการออกเสียงของคนต่างด้าวในบริษัท เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดแต่เพียงสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวที่ต้องไม่เกิน 49.99% เท่านั้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติในไทย ทั้งญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป กดดันรัฐบาลให้ยกเลิกการแก้ไข เพราะมองว่าเป็นการปิดกั้นมากกว่าการเปิดกว้าง

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!