- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 19 May 2024 18:23
- Hits: 4050
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือเกาหลีใต้ร่วมเปิดเวทีสัมมนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนธุรกิจเพลงด้วยลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับหน่วยงานด้านลิขสิทธิ์ของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จัดการสัมมนา เรื่อง 'ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจเพลงด้วยลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล' เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการของอุตสาหกรรมเพลงในยุคดิจิทัล รวมถึงแนวทาง การใช้ลิขสิทธิ์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญามุ่งเน้นผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือส่งเสริมอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ของประเทศ เพื่อสร้างรายได้และโอกาสทางการค้าให้กับผู้สร้างสรรค์ ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนในภาพรวม แลอุตสาหกรรมเพลงของไทย ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีความก้าวหน้าและมีโอกาสทางการ ค้าสูง
โดยสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ หรือ IFPI พบว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมเพลงของไทยมีมูลค่ากว่า 3,748 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 26 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการขยายตัว 6.32% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นรายได้จากระบบสตรีมมิ่งมากถึง 92.8% หรือ 3,480 ล้านบาท และเพลงไทยได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในเอเชีย จนกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมเพลงไทยเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากเช่นกัน”
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในระดับสากล จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพลงของไทยจะต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และพฤติกรรมและความชอบของผู้บริโภค ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้สามารถนำเสนอผลงานหรือรูปแบบการรับฟังที่ตรงตามความต้องการและสามารถแข่งขันได้ โดยในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎ กติกา
เพื่อให้เกิด การแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีในภาพรวม ซึ่งกรมฯ เห็นว่าสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นฟันเฟืองในการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลี (MCST) และสำนักงานคุ้มครองลิขสิทธิ์เกาหลี (KCOPA) จัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเพลง ตลอดจนประเด็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 'ลิขสิทธิ์' เครื่องมือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย ธุรกิจลิขสิทธิ์เพลงไทยกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเพลงเกาหลีและแนวทางการพัฒนาด้านลิขสิทธิ์ ในเกาหลีและไทย”
“การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดนตรีของไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงจากเกาหลี และรับฟังกลยุทธ์การบุกตลาดเพลง ในต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเพลงและดนตรีระหว่าง สองประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีของไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยผลักดันการสร้างมูลค่า ทางการค้าและเพิ่มความสามารถด้านแข่งขันให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป”นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย