- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 12 May 2024 08:57
- Hits: 4915
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลุยพัฒนางานบริการ หนุนใช้ประโยชน์ไอพี บูมสินค้า GI
กรมทรัพย์สินทางปัญญากางแผนทำงานรับปีที่ 33 เดินหน้าพัฒนางานบริการให้มีความรวดเร็วขึ้น ทั้งการจดเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกีฬาของคนไทย ทั้งเจ็ตสกี มวยไทย เพิ่มมูลค่าการตลาดสินค้า GI ยกระดับสู่สินทรัพย์ดิจิทัล นำร่องลิขสิทธิ์เพลง
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงแนวนโยบายการทำงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 32 ปี กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 ว่า กรมจะมุ่งมั่นดำเนินภารกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน ผ่านบริการสำคัญ อาทิ นโยบาย Smart DIP โดยใช้เทคโนโลยีพลิกโฉมงานบริการ เช่น ระบบ Image Search ช่วยตรวจสอบความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น บริการจดทะเบียนเร่งด่วน (Fast Track) เช่น จดเครื่องหมายการค้าภายใน 4 เดือน จากเดิม 12 เดือน ต่ออายุเครื่องหมายการค้าภายใน 30 นาที จากเดิม 60 วัน จดสิทธิบัตรภายใน 12 เดือน จากเดิม 55 เดือน เป็นต้น
สำหรับ ด้านการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ ได้ส่งเสริมการสร้างธุรกิจต้นแบบที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์กีฬาของคนไทยสู่สากล เช่น เจ็ตสกีชิงแชมป์โลก WGP#1 ของไทย จัดแข่งขันในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ถ่ายทอดการแข่งขันไปยัง 121 ประเทศทั่วโลก มีผู้รับชมกว่า 500 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท และจะมีการต่อยอดแนวทางดังกล่าวในอุตสาหกรรมกีฬาประเภทอื่นที่ไทยมีศักยภาพ เช่น มวยไทย ต่อไป
ด้านการยกระดับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าไทยแล้ว 203 รายการ สร้างมูลค่าการตลาด 70,000 ล้านบาท รวมทั้งเร่งรัดการจด GI ไทยในต่างประเทศให้เร็วขึ้น ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนการจดทะเบียน GI ระหว่างกัน และยังมีการยกระดับวัตถุดิบ GI สู่เมนู Fine Dining โดยเชฟมิชลิน ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่น สร้างความแปลกใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจในการนำสินค้า GI มารังสรรค์เมนูใหม่ ๆ ด้วย
นายวุฒิไกร กล่าวว่า กรมยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ บนพื้นฐานเทคโนโลยี Blockchain เพื่อแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสะดวกต่อการซื้อขายแลกเปลี่ยน และสร้างความมั่นใจว่าผู้รับโอนสิทธิจะได้รับผลงานที่เป็นของแท้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ซื้อขายผลงาน (Market Place) จากผู้สร้างสรรค์ได้โดยตรง และสามารถพัฒนาไปสู่การระดมทุนในลักษณะ Crowd Funding ได้อีกด้วย โดยจะนำร่องในการซื้อขายงานลิขสิทธิ์เพลงก่อนเป็นลำดับแรก
นอกจากนี้ กรมยังจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนผ่านการประกาศเจตนารมณ์ กรม “ไม่เอาถ่าน” โดยวางมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี 2573 เพิ่ม Carbon Stock ให้สภาพแวดล้อม ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ ชดเชย 30,000 ต้น