- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 12 May 2024 08:54
- Hits: 4900
ภูมิธรรม พร้อมต้อนรับรัฐมนตรีพาณิชย์ซาอุดิอาระเบีย นำคณะนักธุรกิจเยือนไทย
ภูมิธรรม หารือเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ยันพร้อมให้การต้อนรับรัฐมนตรีพาณิชย์ซาอุดิอาระเบีย ที่จะนำคณะภาคธุรกิจมาเยือนไทยกว่า 100 บริษัท เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ สร้างเครือข่ายทางการค้า ระหว่าง 8-10 พ.ค.นี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2567 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า เป็นครั้งแรกที่ตนได้พูดคุยกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายซาอุดิอาระเบีย โดยเป็นการหารือเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ดร.มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดิอาระเบีย ในฐานะแขกของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะนำคณะภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวนกว่า 100 บริษัท เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนสองฝ่าย ระหว่างวันที่ 8–10 พ.ค.2567
“ได้แสดงความพร้อมและความยินดีอย่างยิ่งที่จะต้อนรับ ดร.มาญิด ที่จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดย ดร.มาญิด ถือเป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทสำคัญ และได้รับการยอมรับจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง การเดินทางมาครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกันอีกมาก โดยเฉพาะในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและของใช้ในบ้าน ยานยนต์และชิ้นส่วน ปุ๋ย พลังงานและพลังงานทดแทน”
นายภูมิธรรม กล่าวว่า นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2565 ไทยกับซาอุดิอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว มีการเดินทางเยือนของผู้แทนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดิอาระเบีย เมื่อเดือนพ.ย.2565 และการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ต.ค.2566 เป็นต้น
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่าย ยังเห็นพ้องว่า การค้าระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย มีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าที่มิใช่น้ำมัน และยังมีศักยภาพในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศได้อีกมาก โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะใช้จุดเด่นของไทยในการสนับสนุนด้านความมั่นคงทางอาหารให้แก่ซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ฝ่ายซาอุดิอาระเบียได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ไทย
ปัจจุบันซาอุดิอาระเบีย เป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทย และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 8,796.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (305,738.80 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการค้า 1.53% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปซาอุดิอาระเบีย 2,667.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (92,076.43 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย 6,128.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (213,662.37 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป