- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 12 May 2024 07:38
- Hits: 5116
ส่งออก มี.ค. ลด 10.9% ลบครั้งแรกรอบ 8 เดือน คาด เม.ย. พลิกกลับมาเป็นบวก
พาณิชย์ เผยส่งออก มี.ค.67 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 10.9% กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เหตุฐานปีก่อนสูงมาก รวม 3 เดือน มูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 0.2% ส่วนขาดดุลการค้า ไม่น่าห่วง ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และน้ำมัน คาด เม.ย. กลับมาเป็นบวกได้แน่ รวมทั้งไตรมาส 2 ก็บวก ยันเป้าทั้งปี 1-2% เหมือนเดิม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.9% กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้ถึง 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 892,290 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.6% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 944,828 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 52,538 ล้านบาท รวม 3 เดือนปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 188,014 ล้านบาท
สำหรับ การส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.1% แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.3%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 12.3% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลด 0.3%
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัว โดยตลาดหลัก ลด 9.1% หดตัวในจีน 9.7% ญี่ปุ่น 19.3% สหภาพยุโรป (27) 0.1% และอาเซียน (5) 26.1% แต่สหรัฐฯ เพิ่ม 2.5% และ CLMV เพิ่ม 0.5% ตลาดรอง ลด 4.3% โดยหดตัวในเอเชียใต้ 6.1% ตะวันออกกลาง 7.3% แอฟริกา 11.9% ลาตินอเมริกา 10.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS 14.2% และสหราชอาณาจักร 19.3% แต่ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5% และตลาดอื่นๆ ลด 82.3% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 87.3%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออก เดือน เม.ย.2567 มั่นใจว่าจะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 2 ก็มีแนวโน้มเป็นบวก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ ที่ขณะนี้กำลังออกสู่ตลาด คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ที่เข้าสู่การฟื้นตัว สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์พลังงานสะอาด ที่จะส่งออกได้ดีขึ้น และยังคงยืนยันเป้าส่งออกปีนี้ที่ 1-2% โดยจากนี้ หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 24,044 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 1% ทำได้เฉลี่ย 24,362 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกจะขยายตัว 2% ส่วนการขาดดุลการค้า ดูแลไม่น่าเป็นห่วง เพราะตัวหลักที่นำเข้าสูง คือ สินค้าทุนและวัตถุดิบ นำเข้ารวมกัน 60% ของการนำเข้ารวม และอีกตัว คือ น้ำมัน มีสัดส่วนถึง 19%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2567 แม้ติดลบมาก แต่ดูเป็นรายสินค้า ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน ปีนี้ผลผลิตออกช้ามาปลาย เม.ย. ทำให้ส่งออกทุเรียนชะลอ สินค้าอุตสาหกรรม อย่างยานยนต์และชิ้นส่วน ก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนไตรมาส 2 เอกชนมองว่าน่าจะบอกได้ มีสินค้าไฮไลต์ ข้าว ยางพารา อาหารสัตว์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สินค้าเกษตรยังมีศักยภาพในการส่งออก ค่าระวางเรือ ตู้สินค้า เป็นปกติแล้ว ยกเว้นมีสถานการณ์รุนแรง
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2567 🚢✈️🌏📊
การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (892,290 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 10.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 5.6 จากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่
อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อ ปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้สภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุปทานของสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดล่าช้า ทั้งนี้ การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.2 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 1.3
.
📊 มูลค่าการค้ารวม
💰มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 10.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.6 ดุลการค้า ขาดดุล 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.8 ดุลการค้าไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
.
💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท
เดือนมีนาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 892,290 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 944,828 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.7 ดุลการค้า ขาดดุล 52,538 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 ดุลการค้าไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 188,014 ล้านบาท
.
📊 แนวโน้มการส่งออกในปี 2567
กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง สำหรับภาคการผลิตโลกยังคงทยอยฟื้นตัวส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า
การทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อหาแนวทางลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป
.
💾 ข้อมูลฉบับเต็ม: ในคอมเมนต์ด้านล่าง.
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่
📌 LINE: @TPSO.tradeinsights
📌 Website : tpso.go.th