- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 28 April 2024 21:13
- Hits: 8252
นภินทร สั่ง ทูตพาณิชย์ เวียดนาม-จีน จับตาใกล้ชิด การขนส่งผลไม้ ส่งสัญญาณไทยทันทีหากติดหน้าด่าน ย้ำ!! ช่วยคนไทยส่งทุเรียน-มังคุดช่วงพีค เข้าจีน ให้เร็วที่สุด
รมช.พณ. มอบทูตพาณิชย์บูรณาการทูตเกษตร ติดตามสถานการณ์ขนส่งผลไม้ไทยผ่านด่านเวียดนามเข้าสู่จีน อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงผลผลิตออกมากในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. โดยทางเวียดนามและจีนรับปากจะช่วยอำนวยความสะดวกรถบรรทุกไทยอย่างเต็มที่ โดยหากพบการติดขัดบริเวณหน้าด่าน ให้แจ้งผู้ประกอบการพิจารณาใช้เส้นทางที่เหมาะสม ป้องกันการติดค้างที่ด่าน
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมหารือกับรองนายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และจากการสำรวจตลาดสำคัญในประเทศจีน ว่า วัตถุประสงค์ในการเดินทางของผมในครั้งนี้ เนื่องจาก ผลไม้ไทยในช่วงฤดูร้อน จะเริ่มออกในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน แต่ในปีนี้ ผลไม้ไทยบางส่วนเลื่อนมาออกในเดือนพฤษภาคม
โดยเฉพาะทุเรียนของภาคตะวันออกและภาคใต้ และยังตรงกับทุเรียนของเวียดนาม ทำให้การออกในเดือนมิถุนายนอยู่ในปริมาณที่มาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นห่วงสถานการณ์การกระจายสินค้าในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะที่สำคัญคือทุเรียนกระจายไปสู่ประเทศจีนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมาก ทำให้การขนส่งไปยังประเทศจีนอาจติดขัด และเกิดปัญหาขึ้นได้
ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้ติดตาม การขนส่งผลไม้จากไทยผ่านเวียดนามและเข้าสู่ประเทศจีนที่เมืองฉงจั่ว ผ่าน 2 ด่านที่สำคัญของเวียดนามคือด่านหูหงิ ซึ่งเป็นทางรถยนต์ และเป็นเส้นทางที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งถูกที่สุด และอีกด่าน คือด่านรถไฟด่งดัง เข้าด่านรถไฟผิงเสียงของจีน และอีกเส้นทางหนึ่ง คือ เส้นทางเรือ ที่ออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศจีน ได้แก่ ท่าเรือกวางโจว ท่าเรือชินโจว ท่าเรือเสินเจิ้น ท่าเรือฮ่องกง“
“โดยผมได้นำคณะมาสำรวจเส้นเวียดนาม และจีน โดยสำรวจที่เวียดนามที่แรกคือ ด่านหูหงิ และด่านรถไฟด่งดัง พบว่าการขนส่งโดยรถไฟยังมีความสามารถในการขนส่งได้อีก เนื่องจากว่าสามารถส่งได้วันประมาณ 6 ขบวนด้วยกันขบวนหนึ่งประมาณ 25 ตู้ ปัจจุบันใช้ไปเพียง 2 ตู้ ส่วนทางด่านหูหงิ เข้าสู่ประเทศ จีนทางด่านโหย่วอี้กวน เป็นที่นิยมที่สุด
แต่เดิมสามารถขนส่งได้ในวันประมาณ 150 ตู้ ในขณะนี้ได้มีการขยายขยายเพิ่มขึ้นเป็น 250 ตู้ และการพูดคุยกับทางด่านหูหงิ โดยลางเซินของประเทศเวียดนาม และฉงจั่วประเทศจีนได้พบปะหารือกัน ก็จะพยายามขยายเวลาและขยายการตรวจเพื่อให้การขนส่งผลไม้ไทยเข้าสู่ประเทศจีนได้เร็วขึ้น”
อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะมีผลไม้ของไทยนั้นออกจำนวนมากและคาดว่าจะมีถึง 900 ตู้ในบางวัน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการพูดคุยกัน และเตรียมความพร้อมในทางเรือด้วย ตนจึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เวียดนามและทูตพาณิชย์จีน ประสานงานกับกระทรวงเกษตรเพื่อรับทราบข้อมูลสินค้าเกษตรทั้งหมดที่ผ่านด่านของประเทศไทยออกมาทางบกเข้าสู่เวียดนาม
ว่ามีปริมาณเท่าใดในแต่ละวันและสถานการณ์ในแต่ละด่านไม่ว่าจะเป็นที่เวียดนามหรือจีนมีความคับคั่งขนาดไหนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจได้ว่าควร จะขนสินค้ามาในช่วงเวลาใด ในขณะเดียวกันควรจะมาทางบกหรือทางเรือ และได้ประสานงานกับด่านโหย่วอี้กวน ของประเทศจีนในช่วงเวลาที่รถคับคั่งบริเวณด่าน ทางฉงจั่วจะขยายเวลาและเพิ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้สินค้านั้นผ่านไปได้เร็วขึ้น
จากนั้นคณะได้ไปสำรวจสินค้าที่ตลาดกลางขนาดใหญ่หนานหนิงชื่อ ตลาด HIGREEN และเป็นตลาดกลางผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีน คือตลาดเจียงหนาน ซึ่งตั้งอยู่ในกวางโจว พบว่าสินค้าในส่วนของทุเรียนเป็นที่นิยมพบว่าสินค้าของประเทศไทยขายได้ดี คนจีนยอมรับสินค้าทุเรียนของไทยและที่สำคัญก็คือมาตรฐานการตัดผลไม้ ที่ไม่ตัดผลไม้ที่อ่อน จึงอยากจะฝากพี่น้องเกษตรกรคงคุณภาพไว้ โดยขอให้ตัดทุเรียนที่มีความสุกไม่น้อยกว่า 70%
นอกจากนี้ ได้มีการหารือกับทูตเกษตรของไทยที่อยู่ที่กว่างโจว ในการที่จะผลักดันให้สินค้าแปรรูป เช่น มะพร้าว ลําไย มะม่วง และมังคุดแช่แข็ง ให้ทางประเทศจีนรับสินค้าแปรรูปของไทย โดยเฉพาะมะพร้าวและลำไยเพื่อจะช่วยให้ดูดซัพพลายได้เยอะและดึงราคาสินค้าเกษตรขึ้นมา
“ขอให้ผู้ประกอบการติดตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ที่ ที่ได้เก็บข้อมูล ว่าในแต่ละวันนั้นมีสินค้าออกจากประเทศไทยปริมาณเท่าใดและขณะเดียวกันสถานการณ์ในแต่ละด้านของทางเวียดนามไม่ว่าจะเป็นด่านหูหงิและด่งดัง และ ด่านในประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นด่านโหย่วอี้กวนและด่านรถไฟผิงเสียง มีความคับคั่งของสินค้าขนาดไหนต้องรอการเข้าสู่ประเทศจีนมากขนาดไหน เพื่อประกอบการพิจารณาของท่านว่า ท่านจะเลือกส่งสินค้ามาในช่วงนั้นทางใดหรือไม่ หากว่าต้องเสียเวลาในการติดขัด4-5 วัน จะทำให้ผลไม้นั้นเสื่อมคุณภาพลง
เพราะฉะนั้น อยากให้ท่านติดตามสถานการณ์จากกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือลองพิจารณาดูเส้นทางที่เหมาะสม เส้นทางทางเรือซึ่งถือได้ว่าเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพอีกทางเพื่อนำผลไม้ส่งออกเข้าสู่ประเทศจีน”นายนภินทร กล่าว
ปริมาณทุเรียนไทยส่งออก ไปยังประเทศจีนในปีที่ผ่านมา (ปี2566)ร้อยละ 99.5 ของปริมาณที่ส่งออกทั้งหมด และผลผลิตมังคุดร้อยละ 96.4 ของปริมาณที่ส่งออกทั้งหมด