- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 07 April 2024 19:48
- Hits: 6612
ส่งออกอัญมณี ก.พ.67 พุ่งต่อ 1,125.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.96% ฟื้นตัว 6 เดือนติด
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน ก.พ.67 มูลค่า 1,125.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.96% ฟื้นตัว 6 เดือนติด หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,865.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 56.13% จากการส่งออกไปเก็งกำไรราคาช่วงขาขึ้น คาดแนวโน้มการส่งออกยังดีต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว กำลังซื้อคู่ค้าสำคัญเพิ่มขึ้น แนะเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์ และสร้างจุดขายที่แตกต่าง
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ก.พ.2567 มีมูลค่า 1,125.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.96% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง และมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง และกาตาร์ ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ได้แสวงหาคู่ค้ารายใหม่
ส่งผลให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,865.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 56.13% ส่วนยอดรวม 2 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 1,822.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 14.78% หากรวมทองคำ มูลค่า 3,031.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.26%ส่วนยอดรวม 2 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 1,822.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 14.78% หากรวมทองคำ มูลค่า 3,031.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.26%
สำหรับ ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 8.46% ฮ่องกง เพิ่ม 34.90% เยอรมนี เพิ่ม 15.85% อินเดีย เพิ่ม 84.95% เบลเยียม เพิ่ม 70.30% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 2.76% กาตาร์ เพิ่ม 27.41% ญี่ปุ่น เพิ่ม 15.27% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 16.70% อิตาลี ลด 0.03%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 12.77% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 30.29% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 14.78% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 37.63% เพชรก้อน เพิ่ม 4.76% เพชรเจียระไน เพิ่ม 7.24% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 13.47% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 34.81% และทองคำ เพิ่ม 255.46% ซึ่งเป็นการส่งออกไปเก็งกำไร จากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทองคำและเครื่องประดับทองเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนพลอยก้อน ลด 3.01% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 51.96%
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าจะยังฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศสำคัญๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ในปี 2567 นักวิเคราะห์คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะลดลงมาอยู่ที่ 2-2.5% ภายในสิ้นปีนี้ ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของเฟด โดยอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับนี้และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
ส่วนองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 2.9% ในปี 2567 และจะเติบโตขึ้น 3% ในปี 2568 โดยเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวและเติบโตขึ้นในหลายส่วน อัตราเงินเฟ้อในประเทศกลุ่ม G20 ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับสู่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางภายในสิ้นปี 2568
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจจะเป็นต้นเหตุของความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาการส่งออกเพชรธรรมชาติและเพชรสังเคราะห์ ไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ที่ต้องผ่านการตรวจสอบที่สำนักงานในเมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยียม
ซึ่งมีปัญหาคอขวดความล่าช้าเกิดขึ้น แม้ว่าทาง Antwerp World Diamond Centre จะแถลงล่าสุดว่า สามารถคลี่คลายปัญหาความล่าช้าได้ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการควรสร้างความเข้าใจในการจัดทำข้อมูลให้ชัดเจน รวมทั้งเผื่อเวลาในการตรวจสอบตามขั้นตอนดังกล่าวด้วย
ส่วนแนวทางการทำธุรกิจ จะต้องเน้นการเพิ่มคุณค่าให้แบรนด์ ทั้งการนำเสนอสินค้าในมุมมองใหม่ ๆ การผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์สร้างความพึงพอใจและสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์มีจุดขายชัดเจน สร้างคุณค่าที่แตกต่างจากรายอื่นๆ และสามารถเข้าถึงลูกค้าที่ต้องการสินค้าจริงๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพ