- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 07 April 2024 19:14
- Hits: 6523
ตั้งบริษัทใหม่ ไตรมาสแรก 67 ทะลุ 2.5 หมื่นราย จับตาธุรกิจสายมู มาแรงแซงโค้ง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยไตรมาสแรกปี 67 มีบริษัทตั้งใหม่ 25,003 ราย ทุนจดทะเบียน 67,940.55 ล้านบาท ส่วนยอดเลิก มีจำนวน 2,809 ราย ทุนจดทะเบียน 11,943.57 ล้านบาท เผยมีธุรกิจที่เติบโตน่าสนใจ ทั้งกิจกรรมด้านความบันเทิง ขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ ขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ กิจกรรมสปา ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตและห้องชุด แต่ที่น่าจับตาสุด ธุรกิจสายมู มาแรงมาก จากการขายความเชื่อ แถมหลายจังหวัดใช้เป็นไฮไลต์ดึงคนมาเที่ยว แนะจดทะเบียนเป็นบริษัท สร้างความน่าเชื่อถือ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน มี.ค.2567 มีจำนวน 7,733 ราย ลดลง 15.75% มูลค่าทุนจดทะเบียน 22,146.14 ล้านบาท ลดลง 92.61% และรวมไตรมาสแรกของปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 25,003 ราย ลดลง 4.5% แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบรายไตรมาสในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2566) โดยเป็นรองเพียงยอดจดทะเบียนไตรมาส 1/2566 ที่มีการจดทะเบียน 26,182 ราย และมีทุนจดทะเบียนรวม 67,940.55 ล้านบาท ลดลง 79.99%
โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร โดยทั้ง 3 ประเภทธุรกิจคิดเป็น 7.83% , 7.63% และ 4.37% ของการจดทะเบียนรวมทั้งประเทศตามลำดับ
ส่วนธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการในเดือน มี.ค.2567 มีจำนวน 911 ราย ลดลง 17.33% ทุนจดทะเบียน 5,582.28 ล้านบาท ลดลง 75.39% รวมไตรมาสแรก จดทะเบียนเลิก 2,809 ราย ลดลง 14.05% ทุนจดทะเบียนเลิก 11,943.57 ล้านบาท ลดลง 60.05%
โดยธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร คิดเป็น 10.54% , 5.48% และ 3.81% ของการจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจรวมในไตรมาสแรก
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่มีการเติบโตที่น่าสนใจในไตรมาส 1/2567 มีหลายธุรกิจ โดยธุรกิจที่เติบโตสูง เช่น กิจกรรมด้านความบันเทิง อาทิ กิจกรรมดนตรี งานศิลปะ เติบโต 64% จากการขยายตัวของการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อความบันเทิง
และกิจกรรมการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันที่เน้นความบันเทิง ธุรกิจขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ เติบโต 57.78% จากเฟอร์นิเจอร์ไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ และมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ เติบโต 47.62% ตามปริมาณการจดทะเบียนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมสปา เติบโต 35.59% จากไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ต้องการกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ต่างชาติชื่นชอบกิจกรรมสปาและสมุนไพรไทย และธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตและห้องชุด เติบโต 37.75% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา หรือธุรกิจสายมู เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยธุรกิจได้เปลี่ยนความเชื่อความศรัทธาให้เป็นสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม
โดยนำศาสตร์สายมูมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า บริการ โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น ผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความเชื่อ หรือผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์ ความรู้สึกกับผู้บริโภค
ยกตัวอย่างเช่น วอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ที่มีรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปไพ่ต่างๆ เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอนที่นำสีมงคลตามวันเกิดเดือนเกิดและปีเกิดเข้ามาเป็นจุดขายทางการตลาด เครื่องประดับต่างๆ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ที่มีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคลต่างๆ มาออกแบบดีไซน์ในรูปแบบแฟชั่น เครื่องสำอาง ที่นำทองคำปลุกเสกหรือว่านที่มีความเชื่อว่าเสริมศิริมงคลต่างๆ มาเป็นส่วนผสม
หมายเลขโทรศัพท์มงคล ที่มีกลุ่มตัวเลขมงคลที่ผู้ใช้มีความเชื่อว่าจะส่งพลังในด้านต่างๆ ให้กับผู้ใช้งาน รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ได้นำศาสตร์ความเชื่อความศรัทธามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย การปรับเปลี่ยนสีของตัวบ้านและห้องต่างๆ ให้ถูกโฉลกกับผู้ซื้อ หรือ การตกแต่งบ้านที่ตรงกับดวงชะตาของผู้บริโภค เป็นต้น
ขณะเดียวกัน พบว่า มีหลายจังหวัดใช้กระแสความเชื่อความศรัทธาเป็นไฮไลต์ท่องเที่ยว ดึงรายได้เข้าท้องถิ่น เป็นการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา โดยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
โดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในไทย เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาถือเป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย สามารถกระจายรายได้สู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าชุมชุม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อความศรัทธา มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา กรมขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจ หากต้องการให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือหรือขยายธุรกิจสู่การให้บริการอื่นๆ การจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือและต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น
โดยล่าสุด มีนิติบุคคลในธุรกิจความเชื่อความศรัทธา ที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ สัดส่วน 46.27% ที่เหลืออยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก คิดเป็นสัดส่วน 26.12% 9.70% 5.22% 5.22% 4.48% 2.99% ของธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ
ทั้งนี้ กรมประเมินว่าการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลครึ่งปีแรก 2567 มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวก คาดว่าจะมีการจัดตั้งธุรกิจใหม่อยู่ที่ 46,000-50,000 ราย โดยต้องจับตาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และนโยบายของรัฐบาลที่ยังรอความชัดเจน
บวกกับปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น ในรอบ 17 ปี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงมากขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สถานการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ รัสเซีย และอินเดีย อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ที่จะมีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่
ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 การจดทะเบียนธุรกิจ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,902,239 ราย ทุนจดทะเบียน 29.83 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 912,297 ราย ทุน 22.10 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัด 709,556 ราย ทุน 15.88 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 201,283 ราย ทุน 0.48 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด 1,458 ราย ทุน 5.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77.78% , 22.06% และ 0.16% ของนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศตามลำดับ