- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 29 March 2024 17:15
- Hits: 7256
พาณิชย์ เผยดัชนีค่าครองชีพโลก สำรวจต้นปี 67 ไทยต่ำอันดับ 94 จาก 146 ประเทศ
พาณิชย์ เผยผลการสำรวจดัชนีค่าครองชีพโลก ต้นปี 67 ที่สำรวจโดยเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง พบไทยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 5 ในอาเซียน เหตุได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ และราคาสินค้าปรับลดลง จับตาราคาน้ำมัน ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และบางมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุด อาจกระทบต่อค่าครองชีพ แนะปรับตัว วางแผนใช้เงิน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง ได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกช่วงต้นปี 2567 พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ร้อยละ 36.0 ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นฐานเท่ากับร้อยละ 100 โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ถือว่าอยู่ระดับต่ำ โดยลดลงจากร้อยละ 40.7 หรืออยู่อันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีค่าครองชีพของไทยลดลง มาจากดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ (Groceries Index) อยู่ที่ร้อยละ 41.0 ลดลงจากร้อยละ 42.0 ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนี อาทิ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ โดยสินค้าในตะกร้าดังกล่าวมีน้ำหนักมากที่สุดในการใช้คำนวณดัชนี ราคาปรับลดลง และมีทิศทางที่สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วง 2 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ที่ลดลงร้อยละ 0.94 และดัชนีราคาอาหารในร้านอาหาร (Restaurant Price Index) อยู่ที่ร้อยละ 18.4 ลดลงจากร้อยละ 21.0 ในปี 2566 ซึ่งใช้สินค้าในตะกร้าในการคำนวณดัชนี อาทิ เซ็ตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม รวมทั้งยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่นำมาใช้คำนวณดัชนีค่าครองชีพลดลง แต่ Numbeo ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขดัชนี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย อยู่ที่ร้อยละ 36.0 สูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ ร้อยละ 33.6 อันดับ 104 จาก 146 ประเทศทั่วโลก เวียดนาม 30.8 อันดับ 113 มาเลเซีย 30.5 อันดับ 115 และอินโดนีเซีย 28.5 อันดับ 126 ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่า กัมพูชา 38.5 อันดับ 88 เมียนมา 38.6 อันดับ 87 บรูไน 50.5 อันดับ 48 และสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน อยู่ที่ร้อยละ 81.9 สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ลดลงจากร้อยละ 85.9 ในปี 2566 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก และมีจำนวนประชากรหนาแน่น ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าครองชีพอยู่ระดับสูง โดยประชากรในสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายรายบุคคลเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,510.8 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 40,000 บาท)
สำหรับ ประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เบอร์มิวดา สูงขึ้นร้อยละ 133.6 ชะลอตัวจากร้อยละ 141.8 ในปี 2566 คาดว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก 2.สวิตเซอร์แลนด์ ร้อยละ 112.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 114.2 ในปี 2566 ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน การผลิตเภสัชภัณฑ์ นาฬิกา เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีระบบสวัสดิการที่ดี ทัศนียภาพของประเทศมีความโดดเด่นและสวยงาม อีกทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ จึงเป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าครองชีพจึงอยู่ในระดับสูง และ 3.หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึงร้อยละ 111.7 จากร้อยละ 103.4 ในปี 2566 โดยหมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับชาวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับสูง
ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปากีสถาน อยู่ที่ร้อยละ 18.5 จากร้อยละ 18.0 ในปี 2566 เนื่องจากปากีสถานเผชิญปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวได้กดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ 2.ไนจีเรีย ร้อยละ 19.3 ลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 30.9 ในปี 2566 โดยไนจีเรีย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแรงลงจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ โควิด-19 การขาดแคลนอาหาร และปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงกดดันให้ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ และ 3.ลิเบีย ร้อยละ 21.2 ลดลงจากร้อยละ 24.2 ในปี 2566 เป็นที่น่าสังเกตว่าลิเบียมีความเปราะบางทางการเมือง โดยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระดับสูงสุด และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นผลให้ค่าครองชีพในประเทศอยู่ระดับต่ำ
“ระดับค่าครองชีพของไทยเมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยได้รับผลดีจากมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่ก็ต้องจับตาราคาน้ำมัน ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ ผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม ประหยัด และพอเพียง”นายพูนพงษ์กล่าว