- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 24 March 2024 10:48
- Hits: 7981
พาณิชย์ แนะผู้ประกอบการ ใช้ KOL ช่วยทำตลาดสินค้าและบริการไทยในจีน
สนค.แนะผู้ประกอบการ ใช้ KOL ช่วยทำตลาดสินค้าและบริการไทยในจีน หลังพบขยายตัวสูงมาก สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบน้อย แถมได้ข้อมูลมาเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ เผยในส่วนพาณิชย์มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ KOL โปรโมตและขายสินค้าไทยเช่นเดียวกัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามการทำตลาดสินค้าในจีน พบว่า ช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการผ่าน KOL (Key Opinion Leader) หรือบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้บริโภค มีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจในตลาดจีน เนื่องจากเป็นช่องทางที่เจาะจงและจูงใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยไม่จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ทำให้ใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์น้อยกว่าการประชาสัมพันธ์รูปแบบอื่น และยังช่วยให้สินค้าหรือบริการที่ได้คนมาแสดงความคิดเห็น (รีวิว) ในเชิงบวกจำนวนมาก ได้รับความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค และวางแผนเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ ความคิดเห็นต่อสินค้าหรือบริการ จำนวนผู้มีส่วนร่วม จำนวนผู้ติดตาม ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และการสั่งซื้อสินค้าผ่าน KOL
“การสร้างการรับรู้และการเข้าถึงผู้บริโภคผ่าน KOL นับเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโต ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำตลาดในจีน จึงควรทำการตลาดผ่าน KOL เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า ควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มสำคัญของจีน โดยผู้ประกอบการควรเลือกแพลตฟอร์มที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เลือก KOL ที่มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการ
และควรวางกลยุทธ์ร่วมกับ KOL ให้เนื้อหาและรูปแบบการประชาสัมพันธ์ ให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมทั้งใช้ข้อมูลจากการขายทางแพลตฟอร์ม เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดจีนในระยะยาว”นายพูนพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาด และการตลาดออนไลน์ในจีน จึงดำเนินงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ และ KOL ในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าและบริการของไทยในต่างประเทศ อาทิ ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ และ KOL คนไทย จัดทำคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้
และสร้างภาพลักษณ์ให้กับตราสัญลักษณ์ Thai Select และร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ และ KOL ของไทยและจีน ที่มีชื่อเสียงในจีน ในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย โดยทำคอนเทนต์ส่งเสริมการขายสินค้าไทย อาทิ ข้าวหอมมะลิ และทุเรียน ผ่านแพลตฟอร์ตสำคัญ อาทิ Kuaishou และ Douyin
ปัจจุบัน สมาคมโฆษณาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Advertising Association : CAA) บริษัท Weiboyi และ Global Digital Marketing Summit (GDMS) รายงานว่า ในปี 2566 ตลาด Livestreaming e-Commerce ของจีน มีมูลค่ามากถึง 4.92 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 40.9% (ประมาณ 6.85 แสนล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนข้อมูลในแต่ละแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ (Social media) ของจีน ในปี 2565 มี KOL เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแพลตฟอร์มที่มีจำนวน KOL มากที่สุด คือ Douyin (หรือ Tiktok) มี KOL เชิงพาณิชย์ จำนวน 446,183 ราย เพิ่มขึ้น 32% สำหรับแพลตฟอร์มอื่น Kuaishou มี KOL 283,262 ราย เพิ่มขึ้น 139% Xiaohongshu มี KOL 305,546 ราย เพิ่มขึ้น 116% Weibo มี KOL 103,409 ราย เพิ่มขึ้น 26% และ Bilibili มี KOL 103,409 ราย เพิ่มขึ้น 52% และแพลตฟอร์มที่เป็นตัวเลือกสำหรับการโฆษณา พบว่า Douyin และ Xiaohongshu ครอบคลุม 4 หมวดหมู่สินค้าและบริการ ได้แก่ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก อาหารและเครื่องดื่ม และรถยนต์และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง