- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 10 January 2015 00:09
- Hits: 2211
พณ.เช็คต้นทุน 43 สินค้า หลังต้นทุนขนส่งลดลงตามราคาน้ำมัน-ค่าไฟมีผลด้วย
แนวหน้า : การค้าภายใน เด้งรับนโยบายรมว.พาณิชย์ หั่นราคาสินค้า หลังน้ำมันลดลงต่อเนื่อง เผยภายในเดือนกุมภาพันธ์ได้ข้อสรุป ว่ามีสินค้าตัวใดบ้างที่ต้องลดราคาลง เผยหาก กกพ.ปรับลดค่าไฟฟ้า จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าเช่นกัน แต่ยอมรับต้องดูประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งค่าแรง วัตถุดิบ
หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้แต่ละกรมทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรับมือกับภาวะเศรษกิจที่ผันผวน โดยเฉพาะประเด็นของราคาน้ำมันที่ลดลงซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้านั้น ล่าสุดกรมการค้าภายในได้ชี้แจงถึงการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากการที่ราคาน้ำมันในประเทศลดลง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของค่าขนส่งสินค้า เพราะในค่าขนส่งยังรวมถึงค่าเช่าคลัง โกดัง และอื่นๆประกอบด้วย แต่ทั้งนี้ก็มีต้นทุนบางอย่างก็ยังไม่มีการปรับลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า ที่ส่งผลให้ วัตถุดิบมีราคาเพิ่มขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนตัว รวมถึงค่าแรงงาน ทำให้ราคาสินค้าแต่ละประเภทมีต้นทุนที่ต่างกัน
เบื้องต้นจากการวิเคราะห์การที่ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 3 บาทกว่าต่อลิตร จะมีผลต่อราคาสินค้าขนาดใหญ่ไม่เกิน 1% ต่อชิ้น หรือประมาณ 0.7-0.8% เท่านั้น เช่น สินค้าราคา 100 บาท จะมีผลต่อราคา 70 สตางค์ ส่วนสินค้าขนาดเล็กจะกระทบประมาณ 0.01% ดังนั้นการจะปรับลดราคาสินค้าประเภทใด ต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุนแต่ละส่วนอย่างละเอียด รอบคอบ ให้มีความสมเหตุสมผล เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ตามหลักการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายใน 3 ประการ คือ ราคาต้องเป็นธรรมต่อทั้ง ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ค้า ปริมาณสินค้าต้องมีเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และต้องไม่มีการฉวยโอกาสในการเอาเปรียบผู้บริโภค
“ขณะนี้ ทีมนักวิเคราะห์ต้นทุนทางบัญชีของกรมการค้าภายในอยู่ระหว่างวิเคราะห์ต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม 43 รายการ หลังจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในไปพิจารณาต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลกและลดลงมาแล้วประมาณ 3 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งโดยรวมมีโอกาสปรับลดลง”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการหารือเบื้องต้นกับผู้ประกอบการหลายราย ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลจากราคาน้ำมันในประเทศลดราคาลงแล้ว เพื่อทบทวนแนวทางที่จะช่วยลดราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพให้กับประชาชนให้มีความเป็นธรรม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีในเรื่องนี้ แต่จะปรับลดลงมากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีสินค้าใดบ้างที่จะสามารถปรับลดราคาลง ต้องรอการวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งอาจได้ตามที่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ภายในสิ้นเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ ซึ่งกรมจะเร่งสรุปต้นทุนของสินค้าต่างๆ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป
“การจะปรับลดราคาสินค้าลงจากราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในทันทีคงเป็นไปไม่ได้ เพราะการปรับราคาสินค้ามีกำหนดสัญญาอยู่ประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งจะต้องหารือให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม และอยู่ในเกณฑ์เหตุผลที่สมควรด้วย แต่ในอนาคตหากว่าวิเคราะห์ต้นทุนต่างๆ เสร็จแล้ว และขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่เป็นผล ทางกรมอาจต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาช่วยกำกับดูแล ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทั้งนี้ ยอมรับว่า หากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ เรกูเลเตอร์ มีการพิจารณาปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ลง ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าให้ลดลง เพราะสินค้าส่วนมากใช้ไฟฟ้าในขั้นตอนการผลิต เป็นต้นทุนที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก โดยกรมจะจับตาดูการหารือของเรกูเลเตอร์ที่จะเกิดขึ้นในรอบถัดไป หรือช่วงในปลายเดือนม.ค. หรือต้นก.พ.นี้
อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวอีกว่า ยังได้ทราบว่า มีบริการที่ลดลงจากผลกระทบราคาน้ำมันที่ลดลงแล้ว เช่น ค่ารถโดยสารสาธารณะ บขส. ที่ลดลงมา กิโลเมตรละ 2 สตางค์ เป็นต้น สำหรับในส่วนของกรมก็จะดูแลในส่วนของสินค้าที่ได้รับผลจากราคาน้ำมันแน่นอน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการด้านขนส่ง ก็จะหารือร่วมกับทางกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านการขนส่งต่อไป
นอกจากนี้ นายบุณยฤทธิ์ ได้เป็นประธานมอบตราสัญลักษณ์ตามโครงการ “พัฒนาสถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร” แก่ บริษัทผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสถานีบริการน้ำมันผ่านมาตรฐาน พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสถานีบริการน้ำมันนั้นๆ ทั้งในด้านปริมาณจากการใช้มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกต้องมีการบริการที่ดี เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพของน้ำมันได้มาตรฐาน ให้บริการที่ดีต่อลูกค้า และมีความสะอาดถูกสุขอนามัย โดยปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านมาตรฐานมากกว่า 200 แห่งแล้ว