- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 21 March 2024 08:40
- Hits: 7775
นภินทร นำทีมพาณิชย์ ขึ้นดอยช้าง เชียงราย เสริมความรู้เกษตรกรให้ปลูกกาแฟแทนการเผาสินค้าเกษตรอื่น พร้อมดันสินค้ากาแฟส่งออกด้วย FTA
รมช.นภินทร นำทีมกรมเจรจาฯ ลงพื้นที่ดอยช้างจังหวัดเชียงราย จัดสัมมนา 'ติดปีกกาแฟเชียงราย ส่งออกด้วย FTA'รุกตลาดส่งออก พร้อมแนะเกษตรกร ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า เจาะตลาดพรีเมี่ยมและกลุ่มคนรักสุขภาพ สร้างความแตกต่างสินค้า และขยายพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้ารองรับตลาดกาแฟที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
วันที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการจัดสัมมนาว่า “การจัดงานสัมมนาเรื่องกาแฟในพื้นที่ดอยช้าง จังหวัดเชียงรายครั้งนี้ เกิดขึ้นจากกระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นโอกาสของกาแฟซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจดาวรุ่งที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก จึงได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งโอกาสและความท้าทายของสินค้ากาแฟ
โดยดอยช้างเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิก้าแหล่งใหญ่ที่สุดของไทยกว่า 33,000 ไร่ บนความสูงจากระดับน้ำระดับกว่า 1,200 เมตร และด้วยอากาศเย็นตลอดปีทำให้ได้กาแฟคุณภาพและมีชื่อเสียงระดับโลกและเป็นสินค้าส่งออก มีผลผลิตปีละ 4,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของกาแฟอะราบิก้าทั่วประเทศ และสร้างรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาทในพื้นที่
โดยการปลูกกาแฟสอดคล้องกับการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนสูง เพราะกาแฟเราปลูกครั้งเดียวอยู่กับเราหลายสิบปี และกาแฟต้องการสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอากาศที่ดี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวโพดต้องปลูกใหม่ทุกฤดู ปลูกปีละครั้ง ทำให้เกิดการเผาเศษวัตถุดิบจากซังข้าวโพดทุกปี ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่นละอองปัจจุบัน ก็ได้ส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรให้สนใจที่จะปลูกกาแฟคุณภาพแทนการปลูกข้าวโพด“
งานสัมมนาเรื่อง 'ติดปีกกาแฟเชียงราย ส่งออกด้วย FTA' ภายใต้โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ FTA Center ระดับจังหวัด ณ บริษัท หญ่าโย ดีซี จำกัด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จัดสัมมนาให้ความรู้ ความเข้าใจกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME กาแฟในพื้นที่ดอยช้าง เรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และโอกาสการค้าสินค้ากาแฟในตลาดการค้าเสรี เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการค้ากาแฟ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องแนวทางการส่งเสริมกาแฟดอยช้างด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี
นอกจากนี้ การจัดสัมมนา ยังเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยมีต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือในการแมชชิ่งกับผู้ใช้กาแฟของไทย อย่างเช่น OR หรือกาแฟพันธุ์ไทย และต้องการนำสินค้าไปต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้นำเอาสินค้ากาแฟ โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดคัดเลือกกาแฟที่เป็นช้างเผือกของภูมิภาคไปนำเสนอให้กับตลาดที่มีความต้องการกาแฟในต่างประเทศโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ซึ่งได้รับรายงานว่ามีประเทศที่ให้ความสนใจหลายประเทศ อาทิ ประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น โดย นายนภินทร ได้มอบหมายให้กระทรวงดำเนินการจัดแมชชิ่งสินค้ากาแฟดอยช้างกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ท้ายนี้ ขอเน้นย้ำว่า “กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริม พัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย โดยมีเป้าหมายผลักดันธุรกิจ SME ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 40 ต่อ GDP ภายในปี 2570 และความสำคัญกับนโยบายเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA 15 ฉบับ 19 ประเทศ เป็นเครื่องมือขยายการส่งออก ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการบริโภคกาแฟสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสวนทางกับผลผลิตกาแฟโลกที่มีปริมาณลดลง จึงต้องร่วมกันหาแนวทางระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และผู้ประกอบการกาแฟในการเพิ่มผลผลิตเมล็ดกาแฟทั้งอะราบิก้าและโรบัสต้า และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาดในระยะยาว”นายนภินทร กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบันประเทศคู้ค้า FTA ส่วนใหญ่ยกเลิกการจัดเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรให้กับเมล็ดกาแฟจากไทยแล้ว จึงเป็นแต้มต่อของไทยในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ผลการสัมมนาในครั้งนี้ยังได้แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ากาแฟ เช่น การเจาะตลาดพรีเมี่ยมและกลุ่มรักสุขภาพ คนรุ่นใหม่ Gen Y และ Gen Z
อีกทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ราบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตรในดอยช้างที่ยังมีพื้นที่เหลืออยู่จำนวนมาก สามารถเพิ่มผลผลิตเมล็ดกาแฟเพื่อรองรับกับตลาดกาแฟที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่จะเป็นแนวทางต้นแบบของการพัฒนาสินค้ากาแฟในพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป