- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 17 March 2024 13:41
- Hits: 7338
สนค.แนะทุกภาคส่วน ผนึกกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดแข่งขัน ป้องสิ่งแวดล้อม
สนค.ศึกษาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก 5 ประเทศ พบมีแนวทางสอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเสนอแนะของ OECD แตกต่างกันไป แต่มีการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายชัดเจน
ส่วนไทยมีแผนระดับชาติ มีนโยบายดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนะทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนต่อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาครัฐใน 5 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน พบว่า แต่ละประเทศมีแนวทางที่สอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเสนอแนะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แตกต่างกันไป แต่ทุกประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดมาตรการในการลดขยะ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาทักษะที่จำเป็น
ทั้งนี้ OECD เสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริม (promoting) โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน และส่งเสริมวัฒนธรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.การอำนวยความสะดวก (facilitating)
โดยอำนวยความสะดวกในการประสานงานเชื่อมโยงนโยบายและแผนงานอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน และ 3.การสนับสนุน (enabling) โดยช่วยระดมเงินทุนและจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการประเมินผล
สำหรับ แนวทางส่งเสริมของสหภาพยุโรป ได้ทบทวนแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan : CEAP) ค.ศ.2015 ก่อนจัดทำแผน CEAP ใหม่ในปีค.ศ. 2020 เพื่อให้การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งด้านการผลิตและการบริโภค ในระดับประชาชน เมือง และภูมิภาค รวมถึงเป็นผู้นำโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ฟินแลนด์ ได้จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม SITRA ที่มีภารกิจสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ มีแนวทางหลัก 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจ การขยายตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน การสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนานวัตกรรม ดิจิทัล และศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนประเทศอื่นด้วย
เนเธอร์แลนด์ ได้ก่อตั้ง Netherland Circular Accelerator! เป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs และพัฒนา Holland Circular Hotspot ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจหมุนเวียน
ญี่ปุ่น ได้เปิดตัว Japan Partnership for Circular Economy (J4CE) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประกอบการในประเทศ และสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านการปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
จีน ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงิน มาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจหมุนเวียน สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุน Central Financial Rewarding Fund และให้สินเชื่อ Green credits และ Green bonds แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหมุนเวียน
ส่วนไทย มีการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566–2570) โดยกำหนดหมุดหมายและกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง คือ หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566–2570) มีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” และกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านอุตสาหกรรม Bio-Circular-Green Economy
โดยในปี 2565 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 484 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 77 โครงการ หรือมูลค่าประมาณ 4.12 พันล้านบาท และไทยยังมีการจัดทำระบบรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน Circular Mark ซึ่งเป็นฉลากที่ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบการใช้ทรัพยากร
และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มวัสดุก่อสร้างกลุ่มพลาสติก กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มแฟชันและไลฟ์สไตล์
“การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีผลดีต่อประเทศ หากทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งไทยควรดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันทางการค้า และกระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนในทุกมิติ
ร่วมกันจัดทำแนวทางการประเมินผลและประโยชน์ที่เกิดจากเศรษฐกิจหมุนเวียน ประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการให้บริการสาธารณะ จัดทำโครงการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดและพิจารณาใช้มาตรการเพื่อเพิ่มความต้องการและส่งเสริมการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าและบริการหมุนเวียน”นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มีประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบ และยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนอาจช่วยสร้างงานใหม่ทั่วโลก ประมาณ 7–8 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2573 และช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) หลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ