- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 07 March 2024 22:25
- Hits: 6183
สนค.เตือนผู้ผลิต ผู้ส่งออก เตรียมรับมือมาตรการอียูแบนสินค้าตัดไม้ทำลายป่า
สนค.เผยมาตรการสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR ของอียู จะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ 30 ธ.ค.67 ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ชี้ยางพารา-ผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ เหตุส่งออกไปอียูสัดส่วน 85-90% ของยอดส่งออกใน 7 กลุ่มสินค้า แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย เตรียมพร้อมรับมือ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยภายใต้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา และจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2567 เป็นต้นไป โดยพบว่า มาตรการ EUDR จะครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า คือ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้
ทั้งนี้ มาตรการ EUDR จะใช้กับผู้ประกอบการ และผู้ค้า ที่จะวางจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยสินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.สินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า 2.สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ 3.ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence)
โดยในส่วนของการทำ Due Diligence ต้องมีการดำเนินการใน 3 ส่วน คือ 1.การรวบรวมข้อมูลของสินค้า (Data Collection) เช่น รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต พิกัดภูมิศาสตร์ของที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าผลิตถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต 2.การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) บนพื้นฐานของข้อมูลที่รวบรวม เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่จะวางจำหน่ายในตลาดอียูเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
รวมทั้งประเมินความเสี่ยงจากการมีสินค้าที่ไม่เป็นไปเงื่อนไขที่อาจปะปนมา และ 3.การลดความเสี่ยง (Risk Mitigation) โดยหากพบความเสี่ยง จะต้องดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงลงมาให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เช่น หาข้อมูล และสำรวจตรวจสอบเพิ่มเติม และต้องจัดทำเอกสารเกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการลดความเสี่ยง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า ต้องจัดเตรียมข้อมูลตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ให้พร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ค้าอียู จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่สามารถให้ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อมูลสำคัญที่จะต้องเตรียมให้มี คือ ข้อมูลเพื่อยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า
โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบลงทะเบียนที่สามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานรองรับมาตรการ EUDR ได้แก่ ระบบลงทะเบียนแหล่งปลูกไม้ ผ่านแอปพลิเคชันอี-ทรี (e-TREE) ของกรมป่าไม้ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Rubber Authority of Thailand (RAOT) GIS) ของการยางแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไปอียู ประมาณ 85-90% คือ ยางพารา รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าอื่นยังมีสัดส่วนน้อย ดังนั้น ในระยะแรก ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ไม้ มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะเดียวกันสินค้าสองกลุ่มนี้ มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลายน้ำจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความซับซ้อน และก่อให้เกิดต้นทุนในการตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่การผลิตสินค้าปลายน้ำตามมา
ในปี 2566 การส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไปอียู มีมูลค่า 455.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 37.14% โดยเรียงตามมูลค่าการส่งออกสูงสุด ดังนี้ 1.ยางพารา 386.55 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 84.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR ทั้งหมด 2.ไม้ 61.53 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ปาล์มน้ำมัน 3.63 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.โกโก้ 3.48 ล้านเหรียญสหรัฐ 5.กาแฟ 0.36 ล้านเหรียญสหรัฐ
และ 6.ถั่วเหลือง 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปอียูมากที่สุดในกลุ่ม คือ ยางพารา และไม้ ซึ่งในปี 2566 การส่งออกยางพารา ลดลง 41.17% สอดคล้องกับการส่งออกยางพาราจากไทยไปโลกที่หดตัวเช่นกัน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์โลกชะลอตัว ขณะที่การส่งออกไม้จากไทยไปอียู เพิ่มขึ้น 42.73%