- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 07 March 2024 07:55
- Hits: 6111
สนค.หนุนทำเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ป้องสิ่งแวดล้อม เข้มคุณภาพ
สนค.วิเคราะห์ภาคการเกษตรของไทย พบเป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ มีประชากร 30.65 ล้านคน คิดเป็น 46.38% ของประชากรทั้งประเทศ หากมีความแข็งแกร่ง เศรษฐกิจจะมีเสถียภาพ หนุนการปรับนโยบายสู่เกษตรยุคใหม่ ต้องมุ่งเพิ่มขีดความสามารถ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด ทั้งผลักดันนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม ปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยให้ได้ประโยชน์สูงสุด และควบคุมคุณภาพมาตรฐาน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์ภาคการเกษตรของไทย พบว่า ภาคเกษตรเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวนประชากรภาคการเกษตร 30.65 ล้านคน คิดเป็น 46.38% ของประชากรทั้งประเทศ หากภาคเกษตรแข็งแกร่ง ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง สามารถรองรับความผันผวนจากภายนอกได้ดีขึ้น
และเห็นว่านโยบายการปรับโครงสร้างภาคเกษตรไทยสู่เกษตรยุคใหม่ การอุดหนุนภาคเกษตรต้องดำเนินการให้ถูกวิธี โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด รวมทั้งการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต การเพิ่มผลผลิต และการดูแลคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตร จะทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภาคเกษตรไทยเผชิญความท้าทายหลายประการ เริ่มตั้งแต่ที่ดินทำกิน โดยครัวเรือนเกษตรจำนวนมากต้องเช่าที่ดิน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ มีพื้นที่ชลประทานเพียง 23.3% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดเล็ก จึงมีต้นทุนการบริหารจัดการสูง ปัญหาปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรมีราคาสูง เช่น ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช และค่าแรงงาน การขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต สินค้าเกษตรส่งออกของไทยขาดความหลากหลาย
โดยในปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตร 5 รายการแรก คือ ผลไม้ ข้าว ไก่ มันสำปะหลัง และยางพารา รวมกันมีมูลค่ากว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนเกือบ 90% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย และเกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ยสูง แรงงานวัยหนุ่มสาวไหลออกจากภาคเกษตร ทำให้ภาคเกษตรของไทยขาดการสานต่อและขาดการพัฒนา
ขณะเดียวกัน ยังมีกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่โลกให้ความสำคัญมากขึ้นกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย หากไม่เร่งปรับตัว โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน มีสัดส่วน 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศ ภาคพลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% ของการปล่อยทั้งประเทศ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การอุดหนุนภาคเกษตร ต้องมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและช่วยให้ภาคเกษตรไทยสามารถปรับตัวรองรับกับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร การศึกษาวิจัยและพัฒนา เช่น ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์ การให้บริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรโดยภาครัฐ เช่น โดรนเพื่อการเกษตรช่วยประหยัดแรงงาน ช่วยทุ่นแรง และประหยัดเวลา การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ เช่น การทำฟาร์มดิจิทัลที่ช่วยยกระดับการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต
รู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพพืช ความต้องการน้ำ สภาพดิน และสภาพอากาศ เพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เพิ่มและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการอุดหนุนเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์กับระบบปั๊มน้ำ
สำหรับ การลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรไทย ในปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ย ปริมาณ 5.14 ล้านตัน มูลค่า 2,256.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณการนำเข้าขยายตัวสูงถึง 22.08% จะเห็นได้ว่าภาคเกษตรเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งราคาปัจจัยการผลิตมีความผันผวนมาก ขึ้นจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น ไทยต้องพยายามพึ่งพาตนเองมากขึ้น และภาครัฐต้องเร่งส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิต กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยเคมี และบริการทางการเกษตร ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจบริการทางการเกษตร
โดยเฉพาะที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร
ทางด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับสินค้าเกษตรที่ผลิตเพื่อการส่งออก สินค้าเกษตรของไทยหลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้ มีปริมาณการส่งออกในสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับการบริโภคในประเทศ เช่น ทุเรียนสด ปี 2566 ส่งออก 67% ของปริมาณผลผลิต โดยมีผลผลิต 1.48 ล้านตัน และส่งออก 0.99 ล้านตัน และมังคุดสด ปี 2566 ส่งออก 93% ของปริมาณผลผลิต
โดยมีผลผลิต 0.27 ล้านตัน และส่งออก 0.25 ล้านตัน ที่สามารถผลิตได้เกินปริมาณที่ตลาดภายในประเทศจะดูดซับได้หมด ขณะที่ตลาดต่างประเทศ ยังมีความต้องการนำเข้า ดังนั้น การผลิตให้สินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ประเทศคู่ค้าต้องการ จะช่วยแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำได้