- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 March 2024 22:43
- Hits: 7123
กรมการค้าต่างประเทศ สรุปยอดการใช้สิทธิ์ FTA ส่งออก ปี 66 อาเซียนครองแชมป์
กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ภายใต้ FTA ทั้งปี 66 มีมูลค่า 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียนครองแชมป์ ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย และอาเซียน–อินเดีย คาดแนวโน้มปี 67 อาเซียนจะยังโตต่อ ส่วนจีน ทุเรียนสด จะยังเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ใช้สิทธิ์สูงสุด เตรียมลงพื้นที่อีก 6 ครั้ง ติวเข้ม SMEs ใช้สิทธิ์ FTA ส่งออก
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ตลอดทั้งปี 2566 มีมูลค่า 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 82.31% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดย FTA ที่ไทยใช้สิทธิ์ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งตลอดทั้งปี 2566 คือ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) มีมูลค่า 29,871.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 75.75% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด โดยเป็นการใช้สิทธิ์ส่งออกไปเวียดนามสูงสุดมูลค่า 7,540.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา คือ อินโดนีเซีย มูลค่า 7,127.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย มูลค่า 6,839.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ มูลค่า 5,385.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกัมพูชา มูลค่า 1,018.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
สำหรับ สินค้าที่มูลค่าการใช้สิทธิ์สูงที่สุด 5 อันดับแรก ภายใต้ความตกลง AFTA ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำตาลที่ได้จากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องจักรอัตโนมัติและรถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ความจุกระบอกสูบเกิน 1,500-2,500 ลบ.ซม.
ส่วนความตกลง FTA ฉบับอื่นของไทย ที่มีการใช้สิทธิประโยชน์สูง อันดับ 2 คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 23,495.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 92.94% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน
อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 6,803.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 77.84% โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด คือ เนื้อไก่ปรุงแต่ง อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย- ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 6,280.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 60.80% สินค้าที่มูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด คือ รถยนต์และยานยนต์ที่มีเครื่องดีเซลหรือกึ่งดีเซล และอันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 5,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 69.42% โดยมีลวดทองแดง เป็นสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด
นายรณรงค์ กล่าวว่า กรมได้คาดการณ์แนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ในปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2566 เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ์ FTA โดยอันดับหนึ่งจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน และน่าจะยังเป็นเวียดนาม ที่มีการใช้สิทธิ์สูงสุดอีก ส่วนตลาดจีน สินค้าทุเรียนสด จะยังคงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดภายใต้ความตกลง FTA และมีแนวโน้มที่ทุเรียนไทยจะยังคงครองตลาดในจีนอย่างต่อเนื่องในปี 2567
ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมมีแผนจัดการสัมมนาเพื่อให้ความรู้และติดอาวุธให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริม SMEs ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่องยกระดับการค้าสู่สากลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA
อีก 5 ครั้ง ในจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และนครพนม และจะจัดเวิร์กชอปให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ระบบตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs Plus) เสมือนจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนกลยุทธ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ตามสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ส่งออกอาเซียนฉ่ำ! ครองแชมป์ใช้สิทธิฯ FTA สูงสุดตลอดปี 2566
กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ตลอดทั้งปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม มีมูลค่ารวม 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอันดับที่หนึ่งที่มีการใช้สิทธิฯ เป็นตลาดอาเซียน ตามด้วยอาเซียน – จีน ไทย – ญี่ปุ่น ไทย – ออสเตรเลีย และอาเซียน – อินเดีย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ตลอดทั้งปี 2566 มีมูลค่าส่งออกรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม อยู่ที่ 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.31 % ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดย FTA ที่ไทยใช้สิทธิฯ ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งตลอดทั้งปี 2566 เป็นความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) มีมูลค่า 29,871.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ คิดเป็น 75.75 % ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ
ซึ่งเป็นการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปเวียดนามสูงที่สุดมูลค่า 7,540.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สองอินโดนีเซีย มูลค่า 7,127.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สามเป็นมาเลเซีย มูลค่า 6,839.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วย ฟิลิปปินส์ มูลค่า 5,385.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกัมพูชา มูลค่า 1,018.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงที่สุด 5 อันดับแรกภายใต้ความตกลง AFTA ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำตาลที่ได้จากอ้อย น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องจักรอัตโนมัติและรถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ความจุกระบอกสูบเกิน 1,500 – 2,500 ลบ.ซม.
นายรณรงค์ฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลง FTA ฉบับอื่นของไทยที่มีการใช้สิทธิประโยชน์สูงรองจากความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ได้แก่ อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) มูลค่า 23,495.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ เป็น 92.94 % ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ
โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงที่สุด 5 อันดับแรกภายใต้ความตกลง ACFTA ได้แก่ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์ของเอทิลีน อันดับ 3 เป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 6,803.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.84 % ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ
โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงที่สุดภายใต้ความตกลงฯ ยังคงเป็นเนื้อไก่ปรุงแต่ง อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 6,280.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 60.80 % ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงที่สุดภายใต้ความตกลงฯ เป็นรถยนต์และยานยนต์ที่มีเครื่องดีเซลหรือกึ่งดีเซล
และความตกลงฯ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เป็นอันดับ 5 คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 5,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 69.42 % ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ โดยมีลวดทองแดง เป็นสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดภายใต้ความตกลงดังกล่าว
นอกจากนี้ ได้คาดการณ์แนวโน้มการใช้สิทธิ FTA ในปี 2567 ว่าการใช้สิทธิ FTA มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ผลมาจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ FTA โดยอันดับหนึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2567 ของตลาดอาเซียน คือ สถิติการใช้สิทธิฯ สำหรับการส่งออกไปยังเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้นแซงหน้าอินโดนีเซียระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566
ซึ่งคาดว่า ในปี 2567 ตลาดเวียดนามจะยังคงเป็นตลาดอาเซียนที่ไทยใช้สิทธิฯ ผ่านความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดจีน จากข้อมูลสถิติปี 2566 พบว่าอุตสาหกรรมส่งออกทุเรียนสดยังคงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดภายใต้ความตกลงดังกล่าวติดต่อกันหลายเดือนในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ทุเรียนไทยจะยังคงครองตลาดในจีนอย่างต่อเนื่องในปี 2567
ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้สิทธิ FTA ในปี 2566 พบว่า แม้ว่ามูลค่าการใช้สิทธิฯ ตลอดทั้งปี 2566 ลดลงจากปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 83,679.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 81,589.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีอัตราการฟื้นตัวช้าในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้สิทธิฯ แล้ว จะเห็นว่าผู้ประกอบการไทยหันมาใช้สิทธิ FTA เพิ่มขึ้นมากขึ้น จากเดิมที่ 81.18% ของมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เป็น 82.31% ในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้สิทธิ FTA ที่มีส่วนช่วยในการสร้างแต้มต่อในการส่งออก ลดต้นทุน ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
นายรณรงค์ฯ เน้นย้ำว่า FTA ถือเป็นอาวุธสำคัญที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยในปี 2567 นี้ กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มีแผนจัดการสัมมนาเพื่อให้ความรู้และติดอาวุธให้แก่ผู้ประกอบการภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่องยกระดับการค้าสู่สากลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA อีก 5 ครั้ง ในจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และนครพนม
รวมถึง การจัด Workshop ให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ระบบตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs PLUS) เสมือนจริง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนกลยุทธ์การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ตามสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถติดตามข้อมูลการจัดสัมมนาครั้งต่อไปได้ผ่าน Facebook ‘กรมการค้าต่างประเทศ DFT’
กรมการค้าต่างประเทศ พร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อบัญชี ‘@gsp_helper’