- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 March 2024 21:36
- Hits: 7025
กรมเจรจาฯ เผยยุทธศาสตร์ร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ออสซี 8 สาขาคืบ ลุ้นประกาศ มี.ค.นี้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยความคืบหน้าการทำแผนงาน กิจกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลีย (เซก้า) มีความคืบหน้าต่อเนื่อง สองฝ่ายพร้อมร่วมมือใน 8 สาขาเศรษฐกิจสำคัญ เกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา การค้าดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การลงทุน และพลังงาน เผยหากสรุปได้ทัน เตรียมประกาศช่วงนายกฯ เดินทางประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย 4-6 มี.ค.นี้
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดทำแผนงาน กิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือเซก้า (Strategic Economic Cooperation Arrangement : SECA) ระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายจะขับเคลื่อนความแน่นแฟ้นทางเศรษฐกิจใน 8 สาขา ได้แก่ 1.เกษตร ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเทคโนโลยี 2.การท่องเที่ยว 3.บริการสุขภาพ 4.การศึกษา 5.การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล 6.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 7.การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน และ 8.พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียวและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจระหว่างกัน และยกระดับขีดความสามารถของไทย รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาข้างต้น เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และมีกิจกรรมที่ครอบคลุมการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) การส่งเสริมภาคเกษตรโคนม การท่องเที่ยวและกีฬาทั้งในด้านการท่องเที่ยวชุมชน ผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ การสนับสนุนการศึกษาด้านหลักสูตรและบุคลากรทางการศึกษา การให้ความสำคัญกับ SMEs การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีมาตรฐาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับภาคธุรกิจ มุ่งเน้น Soft Power ของไทยด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ ภาพยนตร์ Digital content เกมส์ และมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างกัน
สำหรับ เซก้า เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยและออสเตรเลียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับการขยายตัวทางการค้า และเติมเต็มที่ทั้งสองฝ่ายได้เป็นภาคีความตกลงการค้าเสรี 3 ฉบับ
ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) 2.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และ 3.ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายสรุปผลเซก้าได้ทัน ก็จะสามารถประกาศความสำเร็จได้ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของไทย ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,979.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.62% โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 12,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 6,873.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช