- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 February 2024 17:20
- Hits: 8296
ส่งออก ม.ค.67 ประเดิมสวย เพิ่ม 10% บวกต่อเนื่อง 6 เดือนติด สูงสุดในรอบ 19 เดือน
พาณิชย์เผยส่งออก ม.ค. ประเดิมเดือนแรกปี 67 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% บวกต่อเนื่อง 6 เดือนติด สูงสุดในรอบ 19 เดือน ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลก คาดแนวโน้มยังส่งออกได้ดี ทั้งนี้ ยังคงเป้า 1-2%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ม.ค.2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจาก มิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 784,580.4 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.5% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 890,687.4 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 106,106.9 ล้านบาท
สำหรับ การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.2% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 14% และอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผักกระป๋องและผักแปรรูป ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 10.3% เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
ทางด้านตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า การฟื้นตัวของการค้าโลก และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต โดยตลาดหลัก เพิ่ม 10.5% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 13.7% จีน เพิ่ม 2.1% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 4.5% อาเซียน (5) เพิ่ม 18.1% และ CLMV เพิ่ม 16.6% ตลาดรอง เพิ่ม 8.8% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 0.04% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 27.2% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 2.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 64.6% ส่วนตลาดที่ลดลง เช่น แอฟริกา ลด 24.2% ลาตินอเมริกา ลด 4% และสหราชอาณาจักร ลด 1.6% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 11.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 5.1%
นายกีรติ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 จะยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น ส่วนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก แต่ก็ยังคงต้องจับตา เพราะหากขยายวงกว้าง ก็อาจจะมีผลกระทบได้ รวมถึงต้องจับตาปัญหาค่าระวางเรือที่ยังไม่แน่นอน แม้ว่าจะปรับลดจากจุดพีกลงมาแล้วก็ตาม และอัตราแลกเปลี่ยนอาจยังมีความผันผวน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกในปี 2567 ที่ 1-2% ต่อไป โดยหากจะทำให้ได้ตามเป้า การส่งออกแต่ละเดือน จะต้องมีมูลค่า 24,009-24,358 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมกราคม 2567 �✈️🌏📊
. การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (784,580 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 10.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.2 การส่งออกของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลายๆ ประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
อีกทั้ง มีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทางการค้าในระยะต่อไป
.
📊 มูลค่าการค้ารวม
💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนมกราคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ดุลการค้า ขาดดุล 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
💰 มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท
เดือนมกราคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 784,580 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 890,687 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.8 ดุลการค้า ขาดดุล 106,107 ล้านบาท
.
📊 การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
.
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมกราคม อาทิ
1 - การหารือกับสหรัฐฯ เพื่อลดอุปสรรคในการส่งออก โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 รวมไปถึงการขอการสนับสนุนให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ทุกบัญชี โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน
และการเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด การบิน ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
2 - การเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ และอินเดีย คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการส่งออกเดินทางไปเยือนนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ เพื่อเร่งผลักดันการนำเข้าสินค้าไทยในสหรัฐฯ ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน แสวงหาผู้นำเข้ารายใหม่ในตลาดสหรัฐฯ
พร้อมการลงนาม MOU สินค้าข้าวหอมมะลิ และอาหารกระป๋อง ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ยังได้นำคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ที่รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย โดยมุ่งหวังที่จะใช้รัฐคุชราตเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งรัฐคุชราตมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทั้งพลังงานหมุนเวียน และการก่อสร้าง เป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่จะปักหมุดการลงทุนในรัฐคุชราตได้เพิ่มขึ้น
.
📊 แนวโน้มการส่งออกในปี 2567
การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ร้อยละ 1 – 2 ต่อไป.
#กระทรวงพาณิชย์#MOCThailand #MOC #ข่าวเศรษฐกิจ
💾 ข้อมูลฉบับเต็ม: ในคอมเมนต์ด้านล่าง.
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่
📌 LINE: @TPSO.tradeinsights
📌 Website : tpso.go.th