- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 February 2024 13:56
- Hits: 8105
พาณิชย์ เผยผลจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจไทย-ศรีลังกา พบสินค้ามีโอกาสขายเพียบ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจไทย-ศรีลังกา พบสินค้าและบริการไทย มีโอกาสขยายตลาดในศรีลังกาจำนวนมาก ทั้งสินค้าเกษตร อาหารทะเล ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ รองเท้ายาง เครื่องใช้ไฟฟ้า พลังงาน โลจิสติกส์ บริการสุขภาพ อาหาร ของใช้ในโรงแรม รวมทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้รับรายงานจากนายเฉก จีนาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเจนไน อินเดีย ถึงผลการจัดกิจกรรม Business Networking เพื่อให้นักธุรกิจทั้งสองฝ่ายได้พบปะเจรจาธุรกิจ ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
โดยมีผู้ประกอบการศรีลังกาเข้าร่วมประมาณ 130 ราย และผู้ประกอบการไทย 21 ราย จาก 11 คลัสเตอร์ พบว่า ทั้งสินค้าและบริการของไทยมีโอกาสในการขยายตลาดศรีลังกาได้เพิ่มขึ้น และจะมีการร่วมมือกันในการค้าขายต่อไป
สำหรับ กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาดศรีลังกา อาทิ สินค้าเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์พืช และเครื่องเทศ เป็นต้น อาหารทะเลและผลไม้แปรรูป เครื่องดื่มและไอศกรีม เคมีภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง รองเท้ายาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานและเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมสะอาด และธุรกิจบริการที่มีโอกาส อาทิ โลจิสติกส์ บริการสุขภาพ และบริการทางธุรกิจเพื่อสตาร์ตอัป
“ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม มองว่า เศรษฐกิจของศรีลังกาจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับของใช้ในโรงแรมและร้านอาหารจึงมีโอกาสเติบโต รวมถึงสินค้าขั้นกลางที่นำมาผลิตต่อยอดในศรีลังกาได้ และยังเห็นว่าศรีลังกาเป็นแหล่งวัตถุดิบ อาทิ กะลามะพร้าว สัตว์น้ำ และอัญมณี รวมถึงเป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและบริการทางการแพทย์ในบางสาขา”นายภูสิตกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงการจัดงานลงนาม FTA นายกรัฐมนตรีของไทยและประธานาธิบดีของศรีลังกา ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความมั่นใจในการเป็นห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน รวมถึงการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ระหว่างศรีลังกากับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย โดยจากนี้ กรมจะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ต่อไป ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อขยายตลาดสินค้าของไทยในกลุ่มที่มีโอกาส