- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 08 January 2015 01:24
- Hits: 2304
ยันโตต่ำกว่าเป้า 4%ที่พาณิชย์ตั้งไว้-ลูกค้ารายใหญ่เดี้ยงตลาดอาเซียน
แนวหน้า : ยันโตต่ำกว่าเป้า 4%ที่พาณิชย์ตั้งไว้-ลูกค้ารายใหญ่เดี้ยงตลาดอาเซียนถูกชิงส่วนแบ่ง
ฟันธงปี’58 ส่งออกยังเฉา
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ คาดส่งออกเดี้ยงยาว ปี’57 หดตัว 0.2% ส่วน ปี’58 โตแค่ 2.5% ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐตั้งไว้ เหตุเจอปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งเรื่องภาษีจีเอสพี ประเทศคู่ค้าเจอปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ตลาดใหม่อย่างตะวันออกกลางก็เดี้ยงหลังน้ำมันร่วง ส่วนตลาดสำคัญ เช่น อาเซียน ก็ถูกจีนเข้ามาแชร์ส่วนแบงก์ตลาดอีก
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกปี 2557 และคาดการณ์ปี 2558 ว่า ภาพรวมการส่งออก 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย. 2557) หดตัว 0.42% และคาดว่าทั้งปี 2557 ตัวเลขการส่งออกจะยังคงหดตัว 0.2% โดยการส่งออกในเดือน พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 18,568 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1% เมื่อเที่ยบกับปีก่อน ส่งผลให้ 11 เดือนการส่งออกมีมูลค่า 209,188 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.42% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ 11 เดือน มีมูลค่า 136,513 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 65.3% ของการส่งออก ขยายตัว 1% โดยสินค้าที่มีการขยายตัว เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้าที่ที่มีการปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ในด้านสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร 11 เดือน มีมูลค่า 32,459 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 15.5% ของการส่งออก ปรับตัวลดลง 2.8% โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาล ส่วนสินค้าอื่นๆ มีสัดส่วน 19.2% ปรับตัวลดลง 3.2%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 คาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 2.5% แต่ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ก็ยังน่าเป็นห่วง และคงต้องติดตามว่าจะมีทิศทางอย่างไร จะดีขึ้นจริงเหมือนที่คาดการณ์กันไว้จริงหรือไม่ หรือจะมีอุปสรรคที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ทั้ง เรื่องภาษี ซึ่งสหภาพยุโรป ได้ตัดสิทธิ์ จีเอสพี ของไทยตอนสิ้นปี 2557 คู่ค้ามีการสั่งซื้อสินค้าไปกักตุนก่อนที่ภาษีจะขึ้น ประกอบกับภาษีที่ปรับขึ้นมา อาจทำให้คำสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ลดลง เรื่องต่อมาคือราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน ลดลงต่อเนื่อง แต่ก็ไม่รู้ว่าราคาน้ำมันจะดีดกลับเมื่อไหร่ ทำให้ผู้ผลิตวางแผนด้านต้นทุนการผลิตยาก เรื่องการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่น่ากังวล และสภาพอากาศโดยรวมที่แปรปรวนจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร
ส่วนเรื่องที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกในปี 2558 ยังมีเรื่องของค่าเงินบาทที่อาจช่วยพยุงการส่งออกไทยได้บ้าง โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมที่ 33-34 บาทต่อเหรียญ ถือเป็นเหมาะสมต่อการส่งออกได้
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่า Terminal Handling Charge(THC) ที่สายเดินเรือประกาศปรับขึ้นในช่วงต้น ม.ค. 2558 ในอัตราที่สูงกว่าเดิม 75% ซึ่งขณะนี้ได้ขอความร่วมมือกับสายเดินเรือชะลอการปรับขึ้น THC ออกไปเป็นระเวลา 60 วันนั้น ทางสภาฯ คาดหวังว่าทางภาครัฐจะสามารถควบคุมการปรับขึ้นค่า THC ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมได้ เพื่อดูแลผู้ประกอบการไทย ไม่ให้สายเดินเรือต่างชาติมีอำนาจเหนือตลาดมากจนเกินไป เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ในการเปิดเออีซี ไทยและประเทศสมาชิก อาจต้องโดนกดดันต่อไปเรื่อยๆ และประเทศในอาเซียนจะไม่ได้ประโยชน์ในการเปิดเออีซีอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐมีการทบทวนดูแลเรื่องการปรับขึ้นค่าขนส่งให้เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการไทยด้วย
ด้านนายวัลลภ จิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ และภาครัฐมองว่าการส่งออกในปี 2558 จะขยายตัวได้ 3.5-4% และจีดีพี จะขยายตัวได้ 4% มองว่าคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะยังมีอุปสรรคในหลายประเด็น เช่นเรื่องของตลาดภายนอกประเทศ อาทิสหรัฐ ตลาดภายนอกดูแข็งแกร่งที่สุด แต่ตลาดอื่นอย่างอียู ก็มีปัญหา อีกทั้งยังมีการตัดจีเอสพีทำให้สินค้าไทยเสียประโยน์ จีนก็ดูจะไม่ดีขึ้นจากปีก่อน ญี่ปุ่นก็ยังต้องหาทิศทางอยู่ ขณะที่การมองหาตลาดใหม่ก็ต้องถ้ามว่าจะไปไหนได้อีก เพราะรัสเซียก็เชื่อว่ามีปัญหาอยู่ ซึ่งหาจะไปต้องวางแผนการให้ดี และการตั้งความหวังให้มูลค่าการค้าขยายตัวจาก 5,000 ล้านเหรียญ เป็น 10,000 ล้านเหรียญใน 1-2 ปีนี้ก็ดูเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แน่ ส่วนตะวันออกกลางก็มีปัญหาเรื่องน้ำมัน แอฟริกาก็มีเรื่องของอีโบลา โดยตลาดที่ดูมีความหวังที่สุดคือตลาดอาเซียน แต่ก็ต้องแย่งตลาดจากจีนให้ได้ด้วย และไทยต้องมุ่งเน้นให้หนักที่ตลาดนี้
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2557 อาจส่งออกได้ถึง 10.5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 170,000 ล้านบาท จากการที่รัฐบาลเร่งผลักดันระบายข้าว ส่วนปี 2558ห่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงต่อเนื่องจะกระทบการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะตลาดไนจีเรียซึ่งเป็นตลาดข้าวนึ่งขนาดใหญ่ของไทย ที่มีรายได้กว่า 90% จากการส่งออกน้ำมัน อาจกระทบกำลังซื้อข้าวนึ่งไทยลดลง 50% ซึ่งจะทำให้ตลาดข้าวนึ่งของไทยในปี 2558 ซบเซา ส่วนผลผลิตข้าวปี 2558 คาดว่าผลผลิตจะลดลง เพราะจากสถานการณ์น้ำแล้ง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ในช่วง 3-4 เดือนจากนี้ อาจลดลงประมาณ 50% ซึ่งอาจจะทำให้ราคาข้าวในประเทศดีขึ้น แต่ก็อาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดโดยเฉพาะกับประเทศเวียดนาม