- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 11 February 2024 10:39
- Hits: 8823
ภูมิธรรม โชว์ผลงาน 6 เดือนรัฐบาลเศรษฐา 5 พืชเกษตรสำคัญ ราคาขึ้นยกแผง
ภูมิธรรม ส่องราคาสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพาราย้อนหลัง 6 เดือน ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ พบราคาขยับขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง เผยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 8-45% ผ่านผลงานการผนึกเอกชนทำตลาดส่งออก วางแผนบริหารจัดการเชิงรุก ช่วยลดต้นทุน และการบริหารจัดการน้ำ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ที่มีมูลค่าตลาดรวมต่อปีไม่น้อยกว่า 8-9 แสนล้านบาท พบว่า ตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามาบริหารราชการ ในเดือน ก.ย.2566 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ทุกรายการมีราคาขยับขึ้น และยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับระหว่างปี 2558 ถึงปี 2566 หรือช่วง 9 ปี ในรัฐบาลประยุทธ์ พบว่า ณ เดือน ก.พ.2567 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 14,995 บาทต่อตัน จากราคา 13,315 บาทต่อตัน ส่วนต่างราคาสูงขึ้น 1,680 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 13% ข้าวเปลือกเจ้า 12,181 บาทต่อตัน จากราคา 8,443 บาทต่อตัน ส่วนต่าง 3,738 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 44% ข้าวเปลือกเหนียว 13,640 บาทต่อตัน จากราคา 11,847 บาทต่อตัน ส่วนต่าง 1,793 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 15% มันสำปะหลัง 3.56 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากราคา 2.45 บาทต่อกก. ส่วนต่าง 1.20 บาทต่อกก. หรือเพิ่มขึ้น 45% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9.84 บาทต่อกก. จากราคา 9.10 บาทต่อกก. ส่วนต่าง 0.33 บาทต่อกก. หรือเพิ่มขึ้น 8% ปาล์มน้ำมัน 5.83 บาทต่อกก. จากราคา 5.23 บาทต่อกก. ส่วนต่าง 1.22 บาทต่อกก. หรือเพิ่มขึ้น 12% และยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 54.51 บาทต่อกก. จากราคา 47.17 บาทต่อกก. ส่วนต่าง 7.34 บาทต่อกก. หรือเพิ่มขึ้น 16%
สำหรับ ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่สูงขึ้น คือ การผลักดันส่งออก ที่รัฐบาลได้เน้นการจับมือภาคเอกชนในการทำตลาด ทั้งเร่งเจรจาซื้อขายข้าวสารให้กับประเทศคู่ค้า ที่มีการประกาศไว้อย่างญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่งผลต่อปริมาณเกินกว่าเป้าหมายที่ 8 ล้านตันต่อปี และผลักดันการส่งออกมันสำปะหลัง โดยราคาส่งออกแป้งมันปัจจุบันสูงกว่าราคาเฉลี่ยปี 2566 แล้ว 4.6% หรือจากราคา 19.15 บาทต่อกก. วันนี้เฉลี่ย 20.03 บาทต่อกก.
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มุ่งการยกระดับเพิ่มผลิตผลสินค้าเกษตร ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยได้เร่งรัดผลักดันพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ตอบโจทย์ตลาดโลก ภายใต้หลักการผลผลิตสูง ทนทานโรค ต้นทุนต่ำ เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ 535,000 ตัน ภายในปี 2570 และยังสนับสนุนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับระเบียบการค้า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสากล เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย รวมถึงผลไม้ ที่ได้ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อยืดอายุและคงคุณภาพ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของผลไม้ไทย
ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลเศรษฐาเข้าบริหารประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการกลไกตลาด วางแผนบริหารจัดการเชิงรุกในทุกสินค้า ตั้งแต่จัดการก่อนเกิดปัญหา อย่างข้าว ช่วยชาวนา โรงสีเก็บสต็อกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ช่วยลดต้นทุนชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ มันสำปะหลัง ได้ส่งเสริมการแปรรูปหัวมันสดเป็นมันสับ เพื่อเพิ่มโอกาสและมูลค่าการจำหน่ายผลผลิตของชาวไร่มัน เร่งเพิ่มสภาพคล่องให้ลานมัน โรงแป้ง ในการรวบรวมหัวมันสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้รวบรวมในการรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เข้าบริหารจัดการสมดุลสต็อกน้ำมันปาล์ม ให้มีน้ำมันปาล์มเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ การส่งเสริมเป็นพลังงานทางเลือก และผลักดันส่งออกเพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน
ส่วนในระยะกลางถึงยาว ช่วยลดต้นทุนชาวไร่ชาวนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ช่วยลดต้นทุนปุ๋ย เชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูกให้แก่เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและการตลาดสมัยใหม่ในยุคดิจิตอล สนับสนุนการรวมกลุ่มและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตั้งแต่กระบวนการ เพาะปลูก เก็บเกี่ยว และจำหน่าย เพื่อลดความสูญเสียและเสียหายของผลผลิต ลดภาระด้านการเงิน ด้วยมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ลูกหนี้รายย่อย ธ.ก.ส. ไม่เกิน รายละ 300,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี และพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ด้วยการจัดอบรม เกษตรกร คู่ขนานกับมาตรการพักชำระหนี้ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพมีความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้
“รัฐบาลนี้ ยังได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่ เช่น พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้พื้นที่ จ.กาญจนบุรี การบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำข้างต้น สะท้อนถึงแนวทางและเป้าหมายของรัฐบาลเศรษฐา ภายใต้นโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” นายภูมิธรรมกล่าว