- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 07 February 2024 08:58
- Hits: 7635
พาณิชย์ เผยหนังผีไทยสุดฮอตในไต้หวัน ปี 66 นำฉาย 10 เรื่องทำรายได้กว่า 28 ล้าน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลสำรวจตลาดภาพยนตร์ไทยในไต้หวัน ปี 66 มีเข้าไปฉายรวม 10 เรื่อง ทำรายได้ 28.46 ล้านบาท บ้านเช่าบูชายัญ แชมป์รายได้มากสุด ตามด้วยสุขสันต์วันกลับบ้าน และ Mae Nak Reborn ชี้หนังผีไทย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เหตุหลอนจริง ส่วนหนังรัก หนัง Y ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน แนะร่วมมือผู้ผลิตไต้หวันทำหนังภาษาจีนนำหนังเข้าร่วมงานแฟร์ มั่นใจเปิดตัวได้เพิ่มขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.กัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ถึงผลการสำรวจตลาดภาพยนตร์ของไทยในตลาดไต้หวัน และโอกาสในการขยายตลาดภาพยนต์ของไทยเข้าสู่ตลาดไต้หวัน ทั้งการเข้าไปร่วมลงทุน และช่องทางในการนำภาพยนตร์ไทยไปเปิดตัว
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานตลาดภาพยนตร์ไทยในไต้หวันตั้งแต่ ม.ค.-26 พ.ย.2566 พบว่า มีเข้าฉายรวม 10 เรื่อง ทำรายได้รวม 28.46 ล้านบาท ถือว่าฟื้นตัวกลับมาใกล้กับภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุด คือ บ้านเช่าบูชายัญ ทำรายได้ 16.55 ล้านบาท รองลงมา คือ สุขสันต์วันกลับบ้าน รายได้ 9.25 ล้านบาท และเรื่อง Mae Nak Reborn ทำรายได้ 3.01 ล้านบาท รักแรกโคตรลืมยาก รายได้ 1.66 ล้านบาท หุ่นพยนต์ รายได้ 1.13 ล้านบาท ดับแสงรวี รายได้ 5.97 แสนบาท อีหนู อันตราย รายได้ 5.40 แสนบาท บุพเพสันนิวาส 2 รายได้ 5.04 แสนบาทแอน รายได้ 1.13 แสนบาท และอานนท์เป็นนักเรียนดีเด่น รายได้ 8.7 หมื่นบาท
“จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่า หนังผี เป็นแนวภาพยนตร์จากไทย ซึ่งเป็นที่ถูกใจตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยชาวไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าไสยศาสตร์และปรากฏการณ์สยองขวัญในแบบของหนังผีไทยมีความแตกต่างและน่ากลัวในตัวของมันเอง ทำให้เพิ่มความลี้ลับแก่หนังผีไทยมากขึ้น ส่งผลให้ภาพยนตร์ประเภทนี้ของไทยค่อนข้างเป็นที่โปรดปรานของกลุ่มผู้ชมที่ต้องการความตื่นเต้นและหวาดกลัว โดยหนังไทยที่ฉายในไต้หวันปี 2566 จำนวน 10 เรื่อง เป็นหนังผีถึง 5 เรื่อง และภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากที่สุดจากการเข้าฉายในไต้หวัน 3 อันดับแรกในปี 2566 ต่างก็เป็นหนังผีทั้งสิ้น”นายภูสิตกล่าว
ทั้งนี้ นอกจากหนังผีแล้ว ในตลาดไต้หวันก็มีภาพยนตร์ในแนวอื่นของไทยมาเข้าฉายอย่างต่อเนื่อง แม้รายได้จากการเข้าฉายจะไม่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก (2553) คิดถึงวิทยา (2557) ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้ (2557) แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว (2560) น้อง.พี่.ที่รัก (2561) ไบค์แมน (2562) Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2562) อ้าย..คนหล่อลวง (2563) ไสหัวไป นายส่วนเกิน (2564) ใจฟู สตอรี่ (2565) เป็นต้น และยังมีซีรี่ย์ Y ของไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดไต้หวันมากขึ้น เช่น Present Perfect แค่นี้ก็ดีแล้ว (2560) ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค (2563) ดิว ไปด้วยกันนะ (2563) 2gether : The Movie (2565) และดับแสงรวี (2566) เป็นต้น ส่วนภาพยนตร์แนว LGBT ของไทยที่เข้ามาสร้างสีสันในตลาดไต้หวันจนหลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว เช่น รักแห่งสยาม (2551) และ Yes or No อยากรักก็รักเลย (2553) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์แนว LGBT ยุคบุกเบิกของตลาดไต้หวันเลยทีเดียว
นายภูสิต กล่าวว่า ตลาดสำหรับภาพยนตร์เสียงภาษาจีนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เพราะมีคนเชื้อสายจีนอาศัยนอกพื้นที่จีน ไต้หวัน ฮ่องกงและมาเก๊า อีกมากมายทั่วโลก แต่อุปสรรคด้านภาษา อาจทำให้ยากสำหรับไทยในการผลิตภาพยนตร์ภาษาจีนเองทั้งหมด การร่วมทุนสร้างภาพยนตร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ภาษาจีนได้โดยง่าย โดยอาจใช้จุดแข็งจากความนิยมภาพยนตร์ประเภทหนังผีและหนัง Y จากไทยเป็นจุดริเริ่มในการสร้างความร่วมมือ
นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันได้เปิดโอกาสให้คนทำหนังจากต่างประเทศสามารถขอรับทุนสนับสนุนในการร่วมลงทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชันได้ โดยเปิดให้ทีมงานจากต่างประเทศสามารถเสนอโครงการได้ผ่านการจัด Taiwan Creative Contest Fest ซึ่งจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และจะมีการคัดเลือกผลงานมา Pitching ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสมัครและการ Pitching ได้ทั้งหมด ทำให้ทีมงาน บุคลากรของไทยสามารถสมัครเข้าร่วมงานได้ โดยสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อขอรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรับสมัครได้ที่ https://register.taicca.tw/#/register จึงถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มคนทำหนังอิสระที่ต้องการหาเงินทุนมาสนับสนุนการถ่ายทำ
สำหรับ การเข้าสู่ตลาด ไต้หวันมีเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่ 2 เทศกาล คือ Taipei Golden Horse Film Festival หรือเทศกาลม้าทองคำ และ Taipei Film Festival โดยการเข้าร่วมหรือได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้ จะเป็นช่องทางที่จะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยได้เป็นอย่างดี