- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 January 2024 11:18
- Hits: 5626
พาณิชย์ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชม FTA ไทย-เอฟตา รอบ 8 ที่กรุงเทพฯ
พาณิชย์ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย-เอฟตา รอบ 8 ที่กรุงเทพฯ วันที่ 30 ม.ค.-2 ก.พ.นี้ เดินหน้าประชุมระดับหัวหน้าผู้แทน และการประชุมกลุ่มย่อยของผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจากลางปี 67 ย้ำเป็นหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเร่งการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือเอฟตา รอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.–2 ก.พ.2567 ที่กรุงเทพฯ โดยจะมีการประชุมระดับหัวหน้าผู้แทน และการประชุมกลุ่มย่อยของผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ
ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะเร่งรัดการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการเจรจา FTA เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับ การเจรจารอบนี้ จะประกอบด้วยการประชุมระดับหัวหน้าผู้แทน ซึ่งมีตนและนายมาร์คัส สลาเกนฮอฟ เอกอัครราชทูตผู้แทนสมาพันธรัฐสวิส ด้านความตกลงการค้าและหัวหน้าฝ่ายการค้าโลก ภายใต้คณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ ทำหน้าที่กำกับดูแลการเจรจาในภาพรวม และการประชุมกลุ่มย่อยของผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
3.มาตรการเยียวยาทางการค้า 4.การค้าบริการ 5.การลงทุน 6.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 7.ทรัพย์สินทางปัญญา 8.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 9.ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย และข้อบทเชิงสถาบัน การระงับข้อพิพาท 10.ความร่วมมือด้านและการเสริมสร้างศักยภาพ และ 11.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในกลางปี 2567
ทั้งนี้ เอฟตา ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 10 ของไทย โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา มีมูลค่า 9,173.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.73 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 3,976.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,196.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม