- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 January 2024 09:25
- Hits: 5044
กรมเจรจาฯ เป็นเจ้าภาพประชุม FTA ไทย-อียู รอบ 2 เริ่มลงลึกรายละเอียดแต่ละประเด็น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 2 วันที่ 22-26 ม.ค.67 ที่กรุงเทพฯ เดินหน้าประชุมระดับหัวหน้าคณะผู้แทน และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ลงลึกในรายละเอียดแต่ละประเด็น
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค.2567 ณ กรุงเทพฯ โดยในระดับหัวหน้าคณะผู้แทน ตนจะเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และนายคริสตอฟ คีแนร์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู
และจะมีการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ โดยทีมเจรจาฝ่ายไทยจะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับ การประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ จะครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ 6.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 7.การค้าบริการและการลงทุน 8.การค้าดิจิทัล 9.ทรัพย์สินทางปัญญา
10.การแข่งขันและการอุดหนุน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14.รัฐวิสาหกิจ 15.พลังงานและวัตถุดิบ 16.ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17.ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18.การระงับข้อพิพาท และ 19.บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น
ส่วนผลการเจรจารอบที่ 1 เมื่อเดือน ก.ย.2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ในภาพรวมเป็นไปด้วยดี ไทยและอียูได้หารือแลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลงและทำความเข้าใจกับนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย รวมถึงวางแผนการทำงานในรอบต่อๆ ไป และในการเจรจารอบที่ 2 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม สร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้น และจะหารือลงไปในรายละเอียดของแต่ละประเด็น
ทั้งนี้ ในปี 2565 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น การค้าระหว่างไทยกับอียูมีมูลค่า 40,994.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,797.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,197.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 11 เดือนปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าระหว่างไทยกับอียูมีมูลค่ารวม 38,547.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 20,098.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,449.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ