- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 19 January 2024 14:33
- Hits: 8107
กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่แหล่งผลิตสุราพื้นบ้านของดีเมืองแพร่ ขานรับนโยบาย Soft Power เตรียมดันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) มอบหมายให้รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นางสาวกนิษฐา กังสวนิช) นำทีมลงพื้นที่ แหล่งผลิต ‘สุราสักทองแพร่ ‘ เดินหน้าผลักดันขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดแพร่ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม ‘ผ้าหม้อห้อมแพร่’ GI เมืองแพร่เติบโต สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “จากการที่คณะรัฐมนตรี มีมติปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงสุราพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับแนวนโยบายดังกล่าวผนวกกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล ลงพื้นที่แหล่งผลิตสุราพื้นบ้านชั้นดีและมีชื่อของจังหวัดแพร่เพื่อประเมินว่ากรรมวิธีและกระบวนการผลิตเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน GI หรือไม่ พร้อมจัดประชุมระดมความเห็นคนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุราพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องแบบองค์รวม”
นางสาวกนิษฐา กล่าวเพิ่มเติมว่า “สุรากลั่นจังหวัดแพร่ผลิตจากข้าวเหนียว หมักด้วยลูกแป้งหัวเชื้อสูตรลับเฉพาะ และใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่รวมถึงน้ำพุร้อน ปัจจุบันมีผู้ผลิตสุรากลั่น ในจังหวัดแพร่กว่า 200 ราย ส่งรายได้ให้แผ่นดินจากการจ่ายอากรแสตมป์สุรากว่า 370,000,000 บาท/ปี
และในอนาคตหากสินค้าดังกล่าวสามารถผลักดันขึ้นทะเบียนเป็น GI สำเร็จ ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสุรา และสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบด้วย นอกจากสุราพื้นบ้านแล้ว กรมฯ ได้หารือกับผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดซึ่งมีแผนที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียน GI “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” และ “ส้มเขียวหวานวังชิ้น” อีกด้วย