- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 16 January 2024 22:10
- Hits: 7342
กรมพัฒน์ฯ ตั้งเป้าให้บริการดิจิทัล 100% ปี 70 เริ่มเลยขอหนังสือรับรองนิติบุคคลได้ทุกวัน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ครบรอบ 101 ปี ตั้งเป้าให้บริการงานที่อยู่ในความรับผิดชอบผ่านดิจิทัลเต็มรูปแบบทั้ง 100% ในปี 70 หลังปัจจุบันทำได้แล้วราว 80% ล่าสุด คิกออฟให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลออนไลน์แบบทันใจทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด อำนวยสะดวกภาคธุรกิจ และเดินหน้าสร้างเข้มแข็งธุรกิจ ทั้งเอสเอ็มอี แฟรนไชส์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 101 ปี การสถาปนากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า กรมจะเร่งยกระดับการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดระยะเวลา และต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจ และก้าวสู่การเป็นองค์กรภาครัฐชั้นนำด้านบริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2570 จากปัจจุบันให้บริการทางออนไลน์แล้วประมาณ 80% ของงานทั้งหมด โดยเฉพาะการจดทะเบียนนิติบุคคล เหลือเพียงจดทะเบียนออนไลน์ของนิติบุคคลต่างด้าว สมาคมการค้า และหอการค้าเท่านั้น
“ไฮไลต์ปีที่ 101 กรมได้เปิดระบบให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลทางออนไลน์ DBD e-Service แบบเรียลไทม์ ตลอดทั้งวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ชนิด ทันใจ ขอปุ๊บได้ปั๊บ เสียค่าธรรมเนียมเพียง 200 บาท เพราะจากการสำรวจความคิดผู้ใช้บริการ ส่วนใหญ่อยากให้กรมออกหนังสือรับรองนิติบุคคลในวันเสาร์ อาทิตย์ด้วย เพราะบางรายอาจต้องใช้ทำสัญญาแบบเร่งด่วน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ กรมได้ทดลองเปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2567 ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนเป็นจำนวนมาก สามารถนำไฟล์หนังสือรับรองฯ ไปใช้งานได้ทันที ขจัดปัญหาการรอเอกสาร และไม่ต้องเดินทางมาติดต่อหน่วยงานราชการให้เสียเวลา และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2567
โดยสามารถใช้บริการ DBD e-Service ได้ที่ www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> ขอหนังสือรับรอง/คัดสำเนา >> กรอกรายละเอียด >> ชำระเงิน >> ดาวน์โหลดไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยหวังว่า การยกระดับการให้บริการดังกล่าว จะช่วยให้ไทยมีการเริ่มต้นการทำธุรกิจดีขึ้น (Ease of Doing Business) จากการจัดอันดับโดยธนาคารโลก
ขณะเดียวกัน กรมจะเดินหน้าส่งเสริม และสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รายย่อย รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าของเอสเอ็มอีในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันที่ 35.2% เป็น 40% ภายในปี 2570
ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ กรมอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตร เช่น สถานีบริการน้ำมันต่างๆ เพื่อหาสถานที่ให้แฟรนไชส์ได้เช่าในราคาถูก เพื่อขายสินค้า หรือเข้าไปขายฟรี รวมถึงจะเร่งรัดการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทย ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ไทยซีเลกต์ เพื่อสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างกระแสซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย