WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:57 น.  ข่าวสดออนไลน์     

 

กระทรวงพาณิชย์ ฝ่ามรสุม ลดค่าครองชีพต่อเนื่องปี 58

รายงานพิเศษ

    โจทย์ใหญ่ที่ถูกจับตามองไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหนคงหนีไม่พ้นการแก้ไขปัญหาปากท้องของ ชาวบ้าน รวมทั้งรัฐบาลเฉพาะกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกจับตามองไม่แพ้รัฐบาลชุดอื่น ในการพิสูจน์ฝีมือว่าจะทำให้ประเทศหลุดพ้นจาก ยุคข้าวยากหมากแพง ที่เกิดขึ้นอันเป็น ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจของโลก และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือผลของปัญหาภายในประเทศเองที่ดูเหมือนว่าจะรุมเร้ามา ยาวนาน

     ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ประกาศชัดว่า จะไม่มีโครงการไหนออกมาในลักษณะที่ประชานิยม หรือใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อเอาใจประชาชน จึงเป็นโจทย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพาณิชย์ นำโดย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ว่าจะนำนโยบายการแก้ไขปัญหาปากท้องไปสู่การลงมือทำอย่างไร

    โดยไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการละเลงงบประมาณไปโดยไม่คุ้มประโยชน์ที่ได้รับ

     โครงการ สำคัญที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องในแผนปฏิบัติงานประจำปีงบ ประมาณ 2558 (ต.ค.2557-ก.ย.2558) ที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐบาลคือการ ให้ความสำคัญกับการดูแลค่าครองชีพให้ประชาชน ผ่านโครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชน จัดงาน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ต่อการครองชีพในราคาถูก

    ในปี 2558 มีงบประมาณ 241 ล้านบาท กำหนดจัดงานธงฟ้าจำนวน 950 ครั้ง คือ 1.ระดับประเทศ 2 ครั้ง มหกรรมธงฟ้า ครั้งที่ 1 ได้จัดงานของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนระหว่างวันที่ 11-15 ธ.ค.2557 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี และมหกรรมธงฟ้า ครั้งที่ 2 จะดำเนินการจัดงานในเดือนพ.ค. 2558

    2.ระดับภาคกำหนดจะจัดงาน 8 ครั้ง ตามแผนจะเริ่มดำเนินการจัดงานธงฟ้าระดับภาค ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2558

    3.ระดับ อำเภอและร่วมกิจกรรม กับหน่วยงานอื่นจำนวน 890 ครั้ง โดยสำนักงานการค้าภายในทั้ง 76 จังหวัด เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผนตาม ความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัด 4.ระดับเขตในกรุงเทพฯ จำนวน 50 ครั้ง

    นอกจากนี้ ยังกำหนดจัดงานธงฟ้าเพิ่มเติม ประมาณ 224 ครั้ง ได้แก่ 1.ร่วมจัดงาน มหกรรมคอนเสิร์ตเดินหน้าประเทศไทย ร่วมใจปฏิรูป จำนวน 24 ครั้ง โดยครั้งที่ 1-23 ดำเนินการโดยสำนักงานการค้าภายในจังหวัด ซึ่งได้ เริ่มมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 4 ต.ค.2557 - 7 มี.ค. 2558 (จัดทุกวันเสาร์) และครั้งที่ 28 จะจัด วันที่ 14 มี.ค. 2558 ณ กรมทหารราบ 11 กรุงเทพฯ

    2.ร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (ไม่ใช้งบประมาณ) ประมาณ 200 ครั้ง

     ผลที่คาดว่า จะได้รับจากการจัดงานจำนวน 1,174 ครั้ง มีมูลค่าการจำหน่ายประมาณ 2,230.90 ล้านบาท สามารถลดภาระให้กับประชาชนได้ประมาณ 6.59 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าลดภาระประมาณ 957.03 ล้านบาท

     นอกจากโครงการธง ฟ้าแล้วกระทรวงยังมีโครงการมอบของขวัญปีใหม่คืนความสุขให้ประชาชน ซึ่งได้จัดงานไปแล้วระหว่าง 13-15 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษที่จำเป็นต่อค่าครองชีพจำนวน 250 รายการ ตาม ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าในโครงการดังกล่าว

    รวมทั้ง ยังจะดำเนินโครงการตลาดชุมชน ร่วมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คัดเลือกสถานที่และสินค้ามาจำหน่ายให้กับประชาชนและจัดตั้งตลาดชุมชน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค. 2557 จัดไปแล้ว 5 ครั้ง

   ส่วนปี 2558 จะดำเนินการในเดือนม.ค.-ก.ย.2558 จำนวน 200 ครั้ง มีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีรายได้เพิ่มขึ้น

   ทั้งยังดำเนินการโครงการร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จเพื่อคืนความสำเร็จทุกจานให้ ประชาชน (ถูก สะอาด ดี อร่อย) หรือ "หนูณิชย์...พาชิม" ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค ซึ่งเป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค.2557 - ก.ย. 2558 เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนและเป็นกลไกชี้นำราคาอาหารจานเดียว

     ไม่เพียงการลดราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีโครงการ "ฉลาดซื้อ...ประหยัดใช้" เพื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ในการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ซึ่งเป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2558 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าให้ เหมาะสมและรู้จักรักษาสิทธิ์ของตนเอง

     เพื่อให้ความช่วยเหลือ เป็นไปอย่าง ทั่วถึงกระทรวงพาณิชย์ยังต้องรักษาเสถียร ภาพราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

     โดยเฉพาะสินค้าข้าว ที่มีนโยบายชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว 3% ในการเก็บสต๊อกเป้าหมาย 6 ล้านตัน จัดตลาดนัดข้าวเปลือกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค.2557 จำนวน 99 ครั้ง และในเดือนม.ค.-มี.ค. 2558 จำนาน 39 ครั้ง และในเดือนเม.ย.-ก.ย. 2558 รวม 102 ครั้ง รวมทั้งให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2557/58 (สต๊อกยุ้งฉาง) เป้าหมาย 3 ล้านตัน

    ทั้งนี้ เพื่อทำให้ข้าวเปลือกเจ้า 5% มีราคา 8,500 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว 13,000 บาทต่อตัน โดยการจัดตลาดนัด 56 จังหวัด จำนวน 240 ครั้ง ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น 200-500 บาทต่อตัน มูลค่าเพิ่ม 3,600-9,000 บาท/ราย

   ขณะเดียวกัน เร่งรัดการส่งออกข้าวไปต่าง ประเทศ เช่นตลาดแอฟริกา และตะวันออกกลาง คือข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ปลายข้าวซึ่งทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด

   แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่ดูเหมือนว่าผลที่ออกมาจะไม่เป็นที่พอใจมากนัก ล่าสุดทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย โดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. จากประชาชน 2,245 ราย ทั่วประเทศ

    ดัชนี ความเชื่อมั่นในเดือนพ.ย. 2557 ปรับตัวลดลงทุกดัชนี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 79.4 ลดลงจากเดือนต.ค.ที่ระดับ 80.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 68.8

   ดัชนี ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหา งานทำ อยู่ระดับ 73.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ลดลงเหลือ 96.3 จากเดือนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 69.6, 73.8 และ 97 ตามลำดับ

    "สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเป็นที่น่าแปลกใจ แต่หลังจากได้หารือกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ทราบว่าเศรษฐกิจยังมีสัญญาณซึมตัว จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำแทบทุกรายการ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับไทยในรอบ 40 ปี และคาดว่าจะยังทรงตัวในระดับต่ำไปจนถึงไตรมาส 3 ของปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และสินค้าเกษตรมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

   ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอีกในปีหน้า การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนจะดีขึ้นในอนาคต แต่ทั้งนี้สิ่งที่ภาครัฐควรจะเร่งดำเนินการ โดยเร็วคือ การเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ

  แม้การผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นอาจทำได้ยาก เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันลดลง รวมทั้งสต๊อกข้าวและยางพารายังมีจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น ภายใน 1 ปี

   ดังนั้น สิ่งที่ต้องบริหารจัดการคือการบริหารให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ดอกเบี้ยต่ำ และราคาน้ำมันถูกลง เพราะจะช่วยเรื่องการส่งออกและการลดค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนไปได้ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน

  อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่อไป เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชน ซึ่งหากการลงทุนภาครัฐสามารถเบิกจ่ายออกมาได้ในต้นปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง

   ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการอย่างเข้ม ข้น เพื่อให้เงินเฟ้อหรือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปอยู่ในกรอบ

    โดย นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าเงินเฟ้อเดือนพ.ย. 2557 สูงขึ้น 1.26% เป็นการสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันใน ตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

    ส่งผลให้เงินเฟ้อระยะ 11 เดือนสูงขึ้น 2.02% และคาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อจะสูงขึ้น 2.00% ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ระหว่าง 2.00-2.80%

    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2558 อยู่ในกรอบระหว่าง 1.8-2.5% ภายใต้สมมติฐาน 4 ประการคือ

    1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2558 ขยายตัวได้ที่ระดับ 4-5%

    2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบ อยู่ในช่วงระหว่างราคา 90-110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันในขณะนี้ก็ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

    3.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในช่วงระหว่าง 31-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

     และ 4. รัฐบาลยังคงใช้มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง

    แม้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงขึ้น และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน แต่ยังเป็นระดับที่ต้องการความช่วยเหลือลดค่าครองชีพจากรัฐบาล

   เห็น ได้ว่าแม้รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีแรงกดกันจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น แต่การที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มต่ำลงก็กลายเป็นว่าทำให้ราคาสินค้าเกษตรโดย เฉพาะยางพาราลดต่ำลงตามไปด้วย

    ขณะที่สินค้าข้าวแม้ว่าไม่ได้ รับจำนำแล้วแต่ก็ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องวางแผนการบริหารจัดการให้ข้าวที่ อยู่ในสต๊อกรัฐบาลถูกระบายออกมาในปริมาณที่เหมาะสมและได้ราคา ที่ต้องการ และต้องไม่กระทบต่อราคาข้าวใหม่ที่ทยอยออกมาในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

     รวม ทั้งยังต้องจับตาสินค้าและบริการต่างๆ ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยต้องคำนึงถึงการอยู่รอดของผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าได้ด้วยเช่นกัน

     ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอด....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!