- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 02 June 2014 22:33
- Hits: 3381
พาณิชย์ คงเป้าเงินเฟ้อปี 57 อยู่ที่ 2-2.8% พร้อมปรับเพิ่มเป้าเงินเฟ้อครึ่งแรกปีนี้เป็นอยู่ที่ 2.25% เหตุราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้น
พาณิชย์ คงเป้าเงินเฟ้อปี 57 อยู่ที่ 2-2.8% พร้อมปรับเพิ่มเป้าเงินเฟ้อครึ่งแรกปีนี้เป็นอยู่ที่ 2.25% เหตุราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้น หลังเผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 2.62% เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 57 อยู่ที่ 2.45% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ 1.75%
นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ระหว่าง 2.00-2.80% ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่วางกรอบไว้อยู่ระหว่าง 0.5-3.0% ยังถือว่าอยู่ในช่วงเป้าหมายของธปท.
ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกปีนี้นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเพิ่มเป้าเงินเฟ้อเป็น อยู่ที่ 2.25% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 2% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้น
"เป้าเงินเฟ้อครึ่งแรกปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 2.25% จากเดิมมองอยู่ที่ 2% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น อย่างไรก็ตามปีนี้ยังมองกรอบเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 2-2.8% " นางอัมพวัน กล่าว
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปครึ่งปีหลัง คาดจะอยู่ที่ 2.4-2.6% อย่างไรก็ตามจะต้องจับตาดูทิศทางการควบคุมราคาสินค้า ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอัตราค่าเงินบาทว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยเบื้องต้นวางกรอบไว้ที่ 2.4-2.6%
"ในช่วงครึ่งหลังจะต้องตาดูสถานการณ์การควบคุมราคาสินค้าและแนวโน้มของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นได้วางกรอบเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังไว้ที่ 2.4-2.6%"นางอัมพวัน กล่าว
นางอัมพวัน เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน พ.ค.2557 ว่า อยู่ที่ 2.62% เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.2557 อยู่ที่ 2.45% จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นเ ช่น เนื้อสุกร ไข่ ผักสด และสัตว์น้ำ ประกอบกับราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มที่มีการทยอยปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.2556 รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงตามค่าไฟผันแปรอัตโนมัติ
ดัชนี ราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน พ.ค.2557 อยู่ที่ 1.75% เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.อยู่ที่ 1.66% โดยสินค้าที่บริการมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 0.35% เช่น อาหารกลางวัน ข้าวราดแกง ข้าวแกงและข้าวกล่อง หมวดผ้าและเสื้อผ้าสูงขึ้น 0.38% เช่น เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เสื้อยืดสตรี และเครื่องแบบนักเรียนมัธยมชาย หมวดค่าเช่าบ้านสูงขึ้น 0.03% เช่น ค่าเช่าบ้าน หมวดค่าของใช้ส่วนบุคคลสูงขึ้น 0.17% เช่น สบู่ถูตัว กระดาษชำระ แชมพูสระผม ยาสีฟัน น้ำหอม
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย .
พาณิชย์ เผย CPI พ.ค.57 ขยายตัว 2.62%, Core CPI ขยายตัว 1.75%
นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 107.90 เพิ่มขึ้น 2.62% จากเดือน พ.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.40% จาก เม.ย.57 เป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาตามการสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไข่ ผักสด และสัตว์น้ำ ประกอบกับราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และ ก๊าซหุงต้ม ( LPG ) ที่มีการทยอยปรับราคาสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน ก.ย.56 รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงตามค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 113.71 เพิ่มขึ้น 4.39% จาก พ.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.66% จากเม.ย.57 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 104.67 เพิ่มขึ้น 1.68% จากเดือน พ.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.25% จาก เม.ย. 57
การเคลื่อนไหวของ CPI เดือน พ.ค.57 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาสูงขึ้นร้ตามการสูงขึ้นของราคาผักสด ที่สำคัญ ได้แก่ ผักชี ผักกาดหอม กะหล่ ปลี ผักกาดขาว และแตงกวา เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงร้อนและแห้งแล้ง ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เนื้อสัตว์สด ได้แก่ เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู เนื้อโค และปลาและสัตว์น้ ไข่ไก่ เนื่องจากสถานศึกษาเริ่มทยอยเปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น และอาหารสำเร็จรูปที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
สำหรับหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นตามค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม แก๊สโซฮอล์ 91, 95 รวมถึง ค่าธรรมเนียมการศึกษา เครื่องแบบนักเรียน และราคาวัสดุก่อสร้างบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ Core CPI เดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 104.78 เพิ่มขึ้น 1.75% จากเดือน พ.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.13% จาก เม.ย. 57 สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดอาหารสำเร็จรูป ดัชนีสูงขึ้น 0.35% (อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) หมวดผ้าและเสื้อผ้า ดัชนีสูงขึ้น 0.38% (เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เสื้อยืดสตรี เครื่องแบบนักเรียนมัธยมชาย) หมวดค่าเช่าบ้าน ดัชนีสูงขึ้น 0.03% (ค่าเช่าบ้าน) หมวดค่าของใช้ส่วนบุคคล ดัชนีสูงขึ้น 0.17% (สบู่ถูตัว กระดาษชำระ แชมพูสระผม ยาสีฟัน น้ำหอม กระเป๋าธนบัตร ผ้าอนามัย) หมวดการศึกษา ดัชนีสูงขึ้น 0.33% (ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน) หมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้น 0.69% (เบียร์ สุรา)
สินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเครื่องแต่งบ้านและบริภัณฑ์อื่นๆ ดัชนีลดลง 0.02% (เครื่องซักผ้า เครื่องทำนำอุ่น) หมวดที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ดัชนีลดลง 0.18% (น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น (น้ำยาถูพื้น) น้ำยาล้างจาน น้ำยาขจัดคราบสกปรกของเสื้อผ้า ไม้ถูพื้น) นอกจากนี้ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ที่ราคาลดลง ได้แก่ แป้งทาผิวกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม น้ำยาระงับกลิ่นกาย และลิปสติก เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5-3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤษภาคม 2557 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย
นางอัมพวัน กล่าวอีกว่า ช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 57 CPI เฉลี่ย 5 เดือน เพิ่มขึ้น 2.21% จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 4.28% ตามการสูงขึ้นของหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 1.63% หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 7.97% หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 3.80% หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้น 3.23% หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.98% หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.80% และหมวดอาหารสำเร็จรูป ดัชนีราคาสูงขึ้น 4.07% ( อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้น 3.82% อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้น 4.51% )
ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.14% จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 0.89% หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 1.12% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.76% หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารสูงขึ้น 1.26% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้น 0.58% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.10% และ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 1.40%
นางอัมพวัน กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/57 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.25% สาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ สินค้าเกษตรยังมีราคาสูง ขณะที่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง ส่วนช่วงครึ่งปีหลังคาดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.4-2.6% โดยกระทรวงพาณิชย์จะดูแลทิศทางในการควบคุมราคาสินค้า รวมทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยรวมทั้งปีคาดไม่เกิน 2.6% เป็นไปตามกรอบเดิมที่วางไว้ 2.0-2.8%
กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายตรึงราคา LPG และ ดีเซลต่อไป มองว่า ในส่วนการตรึงราคาดีเซลจะช่วยให้เงินเฟ้อในภาพรวมปรับลดลง 0.46% ขณะที่การตรึงราคา LPG มีส่วนทำให้เงินเฟ้อลดลง 0.03%
"ตอนนี้สิ่งที่พาณิชย์จับตามอง คือ เงินบาทที่อ่อนค่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งต้องติดตามผลกระทบในระยะต่อไปด้วย รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์กำลังจะติดตามดัชนีแต่ละตัว เพื่อที่จะดูว่ากระทรวงจะเข้าไปมีบทบาทในการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยได้อย่างไรบ้าง" นางอัมพวัน กล่าว
อินโฟเควสท์