- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 05 January 2015 22:25
- Hits: 2117
พาณิชย์ เผย CPI เดือน ธ.ค.57 โต 0.60%, Core CPI โต 1.69%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน ธ.ค.57 อยู่ที่ 106.65 เพิ่มขึ้น 0.60% จากเดือน ธ.ค.56 แต่ลดลง 0.50% จาก พ.ย.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 57 เพิ่มขึ้น 1.89%
"อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาฯ เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 52" นายสมเกียรติ กล่าว
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน ธ.ค.57 อยู่ที่ 105.39 เพิ่มขึ้น 1.69% จากเดือน ธ.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.18% จาก พ.ย.57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 57 เพิ่มขึ้น 1.59%
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.57 ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาจากราคาสินค้าหมวดอาหารสดและสินค้าหมวดพลังงานปรับตัวลดลง และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้าด้วย
สำหรับ ดัชนี ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ธ.ค.57 อยู่ที่ 113.19 เพิ่มขึ้น 3.16% จาก ธ.ค.56 แต่ลดลง 0.21% จาก พ.ย.57 ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 103.07 ลดลง 0.74% จากเดือน ธ.ค.56 และลดลง 0.67% จาก พ.ย.57
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือนธันวาคม 2557 เท่ากับ 106.65 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 ลดลงร้อยละ 0.50 และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.60 ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับร้อยละ 1.26 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล รวมทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักและผลไม้มีราคาปรับลดลง เนื่องจากผลผลิตเข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ
หากพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) ปี 2557 เทียบกับปี 2556 สูงขึ้นร้อยละ 1.89 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.94 ตามการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 1.37 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 6.85 หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.82 หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.65 หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 4.38 หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.00 และหมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.74 (อาหารบริโภค-ในบ้านสูงขึ้นร้อยละ 4.58 อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 4.99)
สำหรับ ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.83 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.81 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 1.40 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.97 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.10 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.65 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 4.77
"อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.89 ชะลอตัวลงจากปี 2556 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.18 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศโดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง และมาตรการดูแลค่าครองชีพอย่างใกล้ชิดตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน และลดราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับราคาอาหารสดราคาปรับลดลง จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2557 ขยายตัวสูงขึ้นไม่มากนัก" ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
นายสมเกียรติ คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะขยายตัวเพียง 0.11% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft), มาตรการลดราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชน และราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำทำให้กำลังซื้อลดลง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ 1.8-2.5% ตามเดิม ภายใต้สมมุติฐานจีดีพีของประเทศขยายตัวที่ระดับ 4-5%, ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.00-34.00 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการช่วยลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อของปีนี้ลงอีกหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งคงต้องจับตาดูราคาน้ำมันอีกสักระยะก่อนตัดสินใจ
อินโฟเควสท์