- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 05 January 2015 21:55
- Hits: 2004
ส่งออกหืดจับ ลุ้นโต 5%
ไทยโพสต์ : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกสินค้าปี 2558 ไปยังตลาดต่างๆ โดยตลาดจีนคาดว่าจะขยายตัว 1.5% มูลค่า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดรัสเซีย และ CIS คาดว่าจะขยายตัว 10% มูลค่า 1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดแอฟริกาคาดว่าจะขยายตัว 2% ตลาดลาตินอเมริกาจะขยายตัว 3% มูลค่า 8.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดตะวันออกกลางจะขยายตัว 5% มูลค่า 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนตลาดหลัก ตลาดยุโรปจะขยายตัว 5% มูลค่า 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดอเมริกาเหนือจะขยายตัว 2.9% มูลค่า 2.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดญี่ปุ่น จะขยายตัว 2% มูลค่า 2.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"หากประเมินจากเป้าหมายรายตลาดปี 2558 จะพบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออก ทำให้คาดว่าปี 2558 เป้าหมายน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% หากประเมินจากคาดการณ์ที่ได้จากที่ประชุมทูตพาณิชย์เมื่อช่วง พ.ย.ที่ผ่านมา" นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุ
ยุทธศาสตร์การส่งออกปี 2558 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้กำหนดยุทธ ศาสตร์เชิงรุกในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศ ที่สอด คล้องนโยบายของรัฐบาล โดยเน้นเร่งรัดผลักดันการส่งออก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้า และบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ดังนี้
1.ผลักดันการขยายการค้า และการลงทุนกับพันธมิตรในอาเซียนภายใต้ AEC และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA
2.พัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป เพื่อให้ประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าสินค้าอาหารของโลก
3.ส่งเสริมการเป็น Trading Nation และพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ (Internationalization)
4.พัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ (Value Creation, Innovation & Branding)
5.พัฒนาและส่งเสริมสินค้าและบริการเป็นกลุ่มอย่าง ครบวงจร (Clusters)
6.สร้างภาพลักษณ์ประเทศในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ (Country and Industry Image)
7.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลและรูปแบบการค้าสมัยใหม่อื่นๆ (Digital Commerce and New Trading Models)
ปัจจัยบวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกปี 2558
1.เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 2.ความต้องการสินค้าอุป โภคบริโภคในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV แอฟริกา ตะวันออกกลาง เป็นต้น 3.ราคาต้นทุนพลังงานลดต่ำลง จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิต
อุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกปี 2558
1.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 2.ปัญหาในแต่ ละอุตสาหกรรม เช่น กุ้งแช่แข็งและแปรรูป เป็นผลจากโรคตายด่วนในกุ้ง (EMS) ส่งผลให้อุปทานไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้าได้อย่างเต็มที่ วัสดุก่อสร้าง ต้นทุนวัตถุดิบและโลจิสติกส์มีราคาสูง 3.มาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป จากนโยบายลดการนำเข้าพืชสวนของอินโดนีเซีย และมาตรการด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศ EU และสหรัฐอเมริกา
4.ปัญหาด้านแรงงาน ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมประมง/อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของไทย ขาดแคลนแรงงานฝีมือ-อัญมณีและเครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์ (เนื่องจากการผลิตยังเป็นกึ่ง Automation ทำให้ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก) 5.ความไม่สงบในกลุ่ม ประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย
6.นโยบายภายในประเทศของประเทศคู่ค้า เช่น อินโดนีเซีย มีมาตรการลดการนำเข้าน้ำตาลทรายตามนโยบาย Self Sufficiency ซึ่งส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลในประเทศมากขึ้น ทำให้นำเข้าน้ำตาลจากไทยน้อยลง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิต Low Cost Green Car Models (LCGM) ที่กำหนดให้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศถึงร้อยละ 40 ในระดับแรก จนถึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ในระดับ 5 จึงมีแนวโน้มที่จะนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ลดลงอย่างต่อเนื่อง, ญี่ปุ่น การปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2557 และร้อยละ 10 ในปี 2558 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายสินค้าคงทน 7.ราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพาราและน้ำตาล ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 8.การถูกตัดสิทธิ์ GSP.