WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ ชี้แนวโน้มราคาปีนี้ทรงตัว น้ำมันลงสินค้าไม่ลดตาม

     แนวหน้า : กรมการค้าภายใน ยันปัญหาค่าครองชีพปีนี้ยังไม่น่าห่วง เตรียมเชิญผู้ประกอบการ แต่ละกลุ่มสินค้าเข้าร่วมหารือหลังน้ำมันลดลง เพื่อทบทวนดูโครงสร้างราคา พร้อมติดตามปัจจัยเสี่ยงมากระทบทั้งค่าบาทอ่อน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ด้านนักวิชาการ ม.รังสิต ชี้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4 ไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

    นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงทิศทางสถานการณ์ราคาสินค้าในปี 2558 ว่า ราคาสินค้าที่กรมการค้าภายในติดตามดูแลยังไม่น่ากังวล และขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายการสินค้าใดที่ขอปรับราคาเข้ามาที่ กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้กำลังซื้อยังไม่เพิ่มขึ้น

    ทั้งนี้ ประมาณในเดือนม.ค. 2558 กรมจะมีการเชิญผู้ประกอบการ แต่ละกลุ่มสินค้าเข้าร่วมหารือ เพื่อทบทวนดูโครงสร้างราคาสินค้า สำหรับกลุ่มแรกที่จะหารือคือกลุ่มสินค้าที่มีผลกระทบจากราคาน้ำมันลดลงสูง โดยเฉพาะสินค้าที่มีน้ำหนักมาก และเกี่ยวข้องกับต้นทุนการขนส่งสูง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น วัสดุก่อสร้างต่างๆ และกลุ่มต่อมาคือ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตของเกษตรกร เช่น ปุ๋ยเคมีที่มีวัตถุดิบที่เหลือมาจากปิโตรเคมี และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ

    “ในช่วงเดือนม.ค.นี้ กรมจะต้องทบทวนบัญชีรายการสินค้าควบคุม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 43 รายการ และรายการสินค้าที่ต้องติดตามดูแลที่มีอยู่ 205 รายการ รวมถึงรายการสินค้าอ่อนไหว เช่น ข้าวถุง น้ำมันพืช ไข่ไก่ เนื้อหมู นมผง ซึ่งทุกๆ ปีจะมีการทบทวนปีละครั้งโดยจะมีการประเมินแนวโน้มราคาสินค้าว่ามีสินค้าใดที่มีราคาผันผวนผิดปกติหรือ ไม่ และจำเป็นต้องนำเข้ามาสู่การควบคุมหรือไม่เพื่อให้สามารถ กำหนดมาตรการดูแลให้ทันท่วงที และดูว่ามีรายการสินค้าใดควรถอนออกไป”

     นายบุณยฤทธิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรมยังจะมีนโยบายติดตามดูแลสินค้า 2 ประเภท คือ สินค้าเกษตรซึ่งในปีที่ผ่านมา ราคายังมีความผันผวนตลอดทั้งปี และระดับราคาลดต่ำลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งแนวทางการดูแลสินค้าหลัก เช่น ข้าว ที่คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะลดลง ซึ่งในช่วงที่มีผลผลิตข้าวนาปรังออกมามาก กรมเตรียมการใช้นโยบายชะลอการขายเพื่อลดความต้องการขายสินค้าในตลาด โดยในช่วงข้าวนาปีมาตรการได้ผลดีมาก ในการให้ชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉาง และให้โรงสีข้าวช่วยซื้อข้าวเก็บไว้ในโกดังโรงสีก่อน รวมถึงจะมีมาตรการอื่นๆ ที่จะต้องทำต่อเนื่อง คือ การช่วยเหลือลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร ทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และการเดินหน้ามาตรการทำโซนนิ่ง ลดพื้นที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร

   ส่วนในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น และทางกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ช่วยตรึงราคาสินค้าไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2558 โดยหลังจากนั้นจะมีการการนำกลับมาพิจารณากันใหม่ โดยดูเหตุผลจากต้นทุนการผลิตว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

   สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ในปี 2558 นั้นกรม ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ทางกรมจะติดตามดูจากโครงสร้างต้นทุนการผลิตของสินค้าต่างๆ ว่ากรณีราคาน้ำมันลดลงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้ามากน้อยเพียงใด และมีรายการสินค้าใดที่สามารถปรับลดราคาลงมาได้หรือไม่

   “ราคาน้ำมันดีเซล ที่ปรับลดไปประมาณ 3 บาทต่อลิตรนั้นมีผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าลดลงเพียง 0.1-0.7% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจากที่ได้ติดตามดู ยังไม่พบว่าราคาน้ำมันได้ส่งผลกระทบต่อโครงการสร้างต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งที่ผ่านมาในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทางกรม ก็ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาอย่างเป็นธรรมที่สุด”

   ส่วนในปี 2558 มองว่าราคาพลังงานจะยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีปัญหาการเมืองโลก ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อมาคือเรื่องค่าเงินบาท ที่มีทิศทางจะอ่อนค่าลง ซึ่งแม้จะเป็นผลต่อดีต่อผู้ส่งออก แต่มุมของสินค้าที่ไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้า เช่น วัตถุดิบต่างๆ ราคา อาจจะสูงขึ้น และอีกปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพ ประชาชนคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นกัน เพราะหากเศรษฐกิจโลก ยังชะลอตัว และสำหรับเรื่องเงินเฟ้อ ยังมองว่าในปี 2558 ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัญหาที่น่าห่วง และ ระดับอัตราเงินเฟ้อ จะใกล้เคียงกับปี 2557 โดยในปี 2557 ถือว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ และ น่าจะอยู่อัตราที่ไม่เกิน 2%

   นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวร้อยละ 4 ตามการคาดการณ์เดิม ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ส่วนส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป (อียู)ก็มีการปรับตัวมาขยายตลาดอาเซียนเพิ่ม ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!