- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 05 December 2023 16:58
- Hits: 2587
ภูมิธรรม สั่งฟันละเมิดออนไลน์ ช่วย SMEs คุ้มครองไอพี ดันสินค้า GI หนุน Soft Power
ภูมิธรรม สั่งการกรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดการปัญหาการขายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ป้องกันผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ภาพลักษณ์ไทยเสียหาย ช่วย SMEs คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดันสินค้า GI และส่งเสริม Soft Power ‘วุฒิไกร’เผยล่าสุดจับมือลาซาด้า ชอปปี้ ติ๊กต๊อก ชอป ช่วยจัดการ หากเจ้าของสิทธิ์พบวางขาย แจ้งเอาออกได้ทันที สถิติแจ้ง 960 รายการ เอาออก 100% ส่วนการปิดเว็บหนัง เพลง 11 เดือนปิดไปแล้ว 88 URLs
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดการกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะปัจจุบันเป็นช่องทางใหม่ในการค้าขายของผู้ประกอบการไทย แต่ก็มีการใช้โอกาสตรงนี้ นำสินค้าละเมิดมาจำหน่าย ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ขายสินค้าจริง และทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหาย จึงต้องเร่งจัดการและแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ทั้งลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ไม่ใช่คิดธุรกิจ ทำธุรกิจขึ้นมาแล้ว พอจะเดินหน้า กลับมีคนนำไปจดก่อน แบบนี้เสียหาย ต้องไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ส่วนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ต้องผลักดันให้มีการจดเพิ่มขึ้น และช่วยหาตลาด รวมทั้งต้องช่วยส่งเสริมและสนับสนุน Soft Power ของไทย โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอก
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับแพลตฟอร์ม ลาซาด้า ชอปปี้ และติ๊กต๊อก ชอป และผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสิทธิ์จำนวน 30 ราย เพื่อป้องกันการนำสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม
โดยหากผู้ประกอบการ พบเห็นการนำสินค้าขึ้นไปจำหน่าย ก็จะแจ้งให้แพลตฟอร์มเอาออกได้ทันที หากไม่ยอมเอาออก ก็ให้แจ้งมาที่กรม จะประสานให้แพลตฟอร์มเอาออกให้ ซึ่งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จ สามารถนำสินค้าละเมิดออกจากแพลตฟอร์มได้ทันที
สำหรับ เฟซบุ๊ก ได้มีการประสานไปแล้ว ได้รับการแจ้งว่า ขณะนี้เฟซบุ๊ก กำลังพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้จัดการกับการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะมีช่องทางให้รายงาน และจะบริหารจัดการได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ส่วนการจัดการปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และเพลง หากผู้ประกอบการพบเห็นว่ามีการละเมิดทางเว็บไซต์ใด สามารถแจ้งได้ที่กรม หรือแจ้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ทำเรื่องขอศาลให้สั่งปิดเว็บไซต์ หรือทั้งโดเมนเนมได้ และกรมยังได้หารือกับสมาคมโฆษณา งดโฆษณาบนเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย เพื่อตัดช่องทางการมีรายได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการดำเนินการระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า ชอปปี้ และติ๊กต็อก ชอป ล่าสุด มีการขอให้ระงับรวม 960 รายการ และแพลตฟอร์มได้ระงับรวม 960 รายการ คิดเป็นความสำเร็จ 100% โดยสินค้าที่มีการแจ้งว่ามีการละเมิด ได้แก่ อะไหล่ยนต์ หรือเครื่องยนต์ รองเท้า ลิขสิทธิ์เพลง เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ตลับหมึกโทนเนอร์ เป็นต้น
ทางด้านการลบข้อมูล หรือปิด URLs ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 20 (3) ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) ได้มีคำสั่งปิดไปแล้ว 88 URLs และในช่วง 11 เดือนปี 2566 มีการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารวม 181 คดี ของกลาง 71,770 ชิ้น มูลค่า 25.6 ล้านบาท