- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 03 December 2023 20:47
- Hits: 2311
'พาณิชย์'หารือบังกลาเทศ ชงเดินหน้าทำ FTA ยันพร้อมร่วมประชุม JTC ครั้งที่ 6
'รองปลัดพาณิชย์' ต้อนรับรองปลัดพาณิชย์ บังกลาเทศ และคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ–ไทย หารือยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ชงเดินหน้าทำ FTA ระหว่างกันโดยเร็ว ส่วนการประชุม JTC ครั้งที่ 6 เดือน มี.ค.67 ที่กรุงธากา เสนอรัฐมนตรีพาณิชย์พิจารณาแล้ว ย้ำไทยมีแผนร่วมมือบังกลาเทศขยายการค้าต่อเนื่อง ทั้งจัดเจรจาการค้า จัดงาน Top Thai Brands 2024 และเชิญผู้ประกอบการบังคลาเทศร่วมงาน และซื้อสินค้าในงานแสดงสินค้าในไทย
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายโมฮัมเหม็ด อับดุล ราฮิม ข่าน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ว่า กระทรวงพาณิชย์มีความยินดีที่ได้ให้การต้อนรับรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ บังกลาเทศ และคณะผู้แทนสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ–ไทย (BTCCI) ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทย
และได้ใช้โอกาสนี้หารือการต่อยอดความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-บังกลาเทศ โดยเฉพาะการการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 ในช่วงต้นเดือน มี.ค.2567 และแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของสองประเทศ เป็นต้น
“ได้แจ้งกับทางบังกลาเทศไปว่า แม้รัฐบาลไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ แต่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยมีนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก การเร่งเจรจา FTA การเพิ่มความน่าสนใจของไทยในฐานะ Hub ของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน และเห็นว่า ไทยและบังกลาเทศมีศักยภาพที่จะขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันอีกมาก ทั้งสองฝ่ายจึงควรแสวงหาแนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ไทย-บังกลาเทศให้ได้โดยเร็ว”นายเอกฉัตรกล่าว
ทั้งนี้ ไทยได้ยืนยันว่า การจัดทำ FTA ไทย–บังกลาเทศ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ไทย-บังกลาเทศ ตามผลลัพธ์การประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2560
และได้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นให้บังกลาเทศทราบในการประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2563 แล้ว และได้ขอทราบความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA กับไทย (Feasibility Study)
ส่วนการประชุม JTC ไทย–บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 3-4 มี.ค.2567 ณ กรุงธากา กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเข้าร่วมการประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว และจะแจ้งผลให้บังกลาเทศทราบต่อไป โดยไทยเห็นว่า การประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ เป็นกลไกหารือด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย และบังกลาเทศที่สำคัญระหว่างสองประเทศ
และการประชุม JTC ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะติดตามและแสวงหาแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ไทย-บังกลาเทศ
นายเอกฉัตร กล่าวว่า ไทยได้ยืนยันว่า ให้ความสำคัญกับตลาดบังกลาเทศ โดยในปี 2567 มีแผนที่จะร่วมมือกับบังกลาเทศในการขยายการค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำคณะนักธุรกิจบังกลาเทศจาก BTCCI เข้าร่วมกิจกรรมนัดหมายเจรจาการค้า และลงพื้นที่ศึกษาดูงานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.–2 ธ.ค.2566
โดยคาดหวังว่า จะช่วยต่อยอดการค้าระหว่างกันได้เพิ่มขึ้น และการจัดโครงการ Top Thai Brands 2024 ณ กรุงธากา ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนก.ค.2567 และงานแสดงสินค้าในไทย เช่น Bangkok Gems & Jewelry Fair, THAIFEX-HOREC ASIA, STYLE Bangkok, THAIFEX-ANUGA ASIA, TILOG-Logistix และ Bangkok RHVAC and Bangkok E&E ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่ก.พ.-ก.ย.2567 ซึ่งได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการบังกลาเทศเข้าร่วม และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้ามาร่วมงานด้วย
ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-บังกลาเทศ มีมูลค่า 1,254.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.5% จากปี 2564 แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปยังบังกลาเทศ 1,170.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.95% และการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 83.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 53.00% และในช่วง 10 เดือนของปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 880.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.16% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปบังกลาเทศมูลค่า 799.42 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 21.63% และการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 80.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.37%
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินโครงการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดโดยการยกเลิกภาษีนำเข้าและการจำกัดปริมาณนำเข้า ระยะที่ 2 (โครงการ DFQF) ตั้งแต่ปี 2564 และบังกลาเทศเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวของไทย โดยปี 2565 บังกลาเทศใช้สิทธิพิเศษภายใต้โครงการ DFQF ในการส่งออกสินค้ามายังไทยมูลค่า 379,297 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้า อาทิ เมล็ดงา ภาชนะที่ใช้ในครัวเรือนที่ทำด้วยพลาสติก และเชือกที่ทำจากปอกระเจา เป็นต้น