- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 30 November 2023 20:15
- Hits: 2640
สนค.ชี้เป้าใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทำธุรกิจ
สนค.เผยเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการขยายตัวต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น มีหลายประเทศนำแนวคิดมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างรายได้รูปแบบใหม่ ส่วนพาณิชย์มีการเดินหน้าส่งเสริมเต็มที่ ทั้งจัดงานช่วยเปิดตัวสินค้า BCG ช่วยพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนะเอกชนมุ่งเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุน แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าได้เพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนและมีกระบวนการนำทรัพยากร วัสดุ และผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากการผลิตหรือการบริโภคทั้งหมด กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อให้เกิดของเสียและใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการบริโภค
ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทำให้ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง เนื่องจากการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยชะลอการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ทำให้สามารถนำทรัพยากรที่ใช้แล้วถูกนำกลับมาผลิตหรือใช้งานใหม่ ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการผลิต เสริมประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าและธุรกิจบริการ สร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่ช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย
โดยข้อมูลจากฐานข้อมูลด้านการตลาดและอุตสาหกรรม Statista ระบุว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 3.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569 เป็นประมาณ 7.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มตลาดและการบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เปิดรับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลจาก Ellen MacArthur Foundation (EMF) ที่กล่าวถึงโอกาสสําคัญต่อภาคธุรกิจที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1.โอกาสในการทํากําไร 2.โอกาสด้านความมั่นคงและความยืดหยุ่นของอุปทานที่มีเพิ่มขึ้น 3.โอกาสจากความต้องการที่มีต่อโมเดลธุรกิจบริการในรูปแบบใหม่ และ 4.โอกาสในการขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าใหม่
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ดีในอนาคต เช่น ธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ธุรกิจที่มุ่งเน้นการเช่าซื้อแทนการขายขาด ธุรกิจบริการประเภทซ่อมบำรุง และธุรกิจบริการโลจิสติกส์แบบย้อนกลับ (Reverse Logistics) และจัดการวัสดุ
มีตัวอย่างธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศ คือ Repair Café ที่มีจุดเริ่มต้นจากเนเธอร์แลนด์ ได้กลายเป็นร้านต้นแบบให้อีกหลายประเทศนำไปทำตามอีกกว่า 2,000 แห่ง โดย Repair Café ถือเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์การพบปะกัน ระหว่างคนที่ชอบซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้และผู้ที่นำเอาของใช้ที่เสียแล้วมาซ่อม และมีอาหารเครื่องดื่มไว้ให้บริการ Library of Things หรือห้องสมุดสรรพสิ่ง เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจจากสหราชอาณาจักร ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันในชุมชน โดยห้องสมุดสรรพสิ่งคือแพลตฟอร์มให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกัน และนำของที่มีอยู่ทุกชนิดมาแลกเปลี่ยนกันใช้สอย
เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถยืม เช่า แลกเปลี่ยน สิ่งของเหล่านั้นได้ เป็นต้น และ Too Good To Go คือ สตาร์ตอัปที่เริ่มก่อตั้งในเดนมาร์ก และขยายเครือข่ายไปกว่า 17 ประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็น’ตัวกลาง’ให้ร้านค้าหรือร้านอาหารโพสต์ขาย’อาหารหรือวัตถุดิบส่วนเกิน’ ในแต่ละวัน ในราคาที่ถูกลง
สำหรับ กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้มีการจัดทำกิจกรรมผลักดันการค้าสินค้าที่สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนควบคู่กับความต้องการของตลาดโลก เช่น งาน Thailand Local BCG Plus Expo 2023 ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งงานเสวนาเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจ และการเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า Bio-Circular-Green-Economy (BCG) ของไทยให้กว้างขวางขึ้น
และโครงการพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (DEsign from Waste of Agriculture and Industry: DEWA & DEWI) ที่มีการนำเสนอผลงานต้นแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสินค้าและออกแบบสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการวางแผนธุรกิจและการตลาด เพื่อต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม
“ภาครัฐและภาคเอกชนควรติดตามและใช้ประโยชน์จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่หากนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การค้า และการให้บริการ ตลอดจนมีโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
เพราะการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นผลดีต่อประเทศ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยและกระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน”นายพูนพงษ์กล่าว