- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 08 November 2023 00:52
- Hits: 2623
การค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนกันยายน 2566 หดตัว 3.32% ส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผ่านแดนไปจีนเพิ่มขึ้น 55.51% ในขณะที่การส่งออกชายแดนลดลง 15.69%
1. การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% และการนำเข้ามูลค่า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนกันยายน 2566 ทั้งสิ้น 26,396 ล้านบาท
1.1 การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา) เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 75,704 ล้านบาท ลดลง 16.19% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 48,113 ล้านบาท ลดลง 15.69% และการนำเข้ามูลค่า 27,591 ล้านบาท ลดลง 17.03% โดยไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 20,522 ล้านบาท
1.1.1 มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 13,451 ล้านบาท (-19.41%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ น้ำยางข้น และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์อื่นๆ
1.1.2 สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 12,489 ล้านบาท (-3.53%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และน้ำตาลทรายขาว
1.1.3 กัมพูชา มูลค่าส่งออก 11,107 ล้านบาท (-26.62%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องดื่มอื่นๆ และรถยนต์นั่ง (เครื่องสันดาปภายใน)
1.1.4 เมียนมา มูลค่าส่งออก 11,066 ล้านบาท (-9.99%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันปาล์ม และน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ
1.2 การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) เดือนกันยายน 2566 มีมูลค่ารวม 72,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.03% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 39,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.69% และการนำเข้ามูลค่า 33,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.26% โดยไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 5,874 ล้านบาท
1.2.1 จีน มูลค่าส่งออก 22,401 ล้านบาท (+107.20%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และมังคุดสด
1.2.2 สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 5,657 ล้านบาท (+7.52%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
1.2.3 เวียดนาม มูลค่าส่งออก 3,228 ล้านบาท (-23.74%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และลำไยแห้ง
1.2.4 ประเทศอื่นๆ (เช่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มูลค่าส่งออก 8,082 ล้านบาท (-41.11%)
2. การดำเนินการเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน
2.1 การกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 และการทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 65/2558 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและผ่านแดน เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา ดังนี้
2.1.1 ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ในส่วนของการส่งเสริมการค้า ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1) พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า 2) ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน
3) ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ และ 4) ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าประสงค์หลักในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 และมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแต่ละยุทธศาสตร์ย่อย
2.1.2 ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางการดำเนินการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน
และติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนและภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดนให้มากขึ้น ทั้งนี้ ให้แก้ไขชื่อคณะกรรมการฯ เป็น “คณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน”
2.2 การจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ในจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูง โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน/ผ่านแดนแบบครบวงจร มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น
โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการระยะสั้น (3 เดือน) (Quick Win) ระยะกลาง (6 เดือน) และระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) ซึ่งจังหวัดที่มีมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านสูงและมีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ OSS จำนวน 10 จังหวัด มีความพร้อมจัดตั้งได้ทันที 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด และสงขลา และมีความพร้อมดำเนินการจัดตั้งได้ภายใน 3 เดือน 4 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี นครพนม และมุกดาหาร ส่วนจังหวัดจันทบุรีอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และจังหวัดสระแก้วอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารศุลกากรบ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท คาดว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ OSS ใน 2 จังหวัดดังกล่าวได้ในปี 2568
2.3 การติดตามการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม เพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 – ปัจจุบัน มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดแล้ว 86 แห่ง จากทั้งหมด 95 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 73 แห่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายผลักดันการเปิดด่านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศเพื่อนบ้านให้เปิดด่านตรงข้ามกับที่ฝั่งไทยเปิดแล้วหรือมีความพร้อมที่จะเปิดด่าน
2.4 โครงการจับคู่กู้เงิน โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 1,689 ราย วงเงินรวม 6,607.9 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,649 ราย วงเงินรวม 6,444.9 ล้านบาท
พาณิชย์ ทำยุทธศาสตร์การค้าชายแดน ตั้งเป้าดันมูลค่าเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านปี 70
กรมการค้าต่างประเทศทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 67–70 ลุยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อำนวยความสะดวกด่านชายแดน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้า และส่งเสริมการลงทุน ตั้งเป้าดันการค้าเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาทในปี 70 พร้อมปรับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการให้มีบทบาทมากขึ้น ดันจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ นำร่อง 10 จังหวัด สั่งเร่งเปิดด่านชายแดนให้ครบ ส่วนยอดการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือน ก.ย. มูลค่า 148,564 ล้านบาท ลด 3.32% รวม 9 เดือน มูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลด 2.26%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567–2570 โดยได้กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ในส่วนของการส่งเสริมการค้า ได้แก่
1.พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า 2.ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ และ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าประสงค์หลักในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 และยังกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการทำหน้าที่ขับเคลื่อนแต่ละยุทธศาสตร์ย่อยด้วย
ทั้งนี้ ยังได้ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางการดำเนินการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน
และติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนและภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดนให้มากขึ้น และให้แก้ไขชื่อคณะกรรมการฯ เป็น “คณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน”
ขณะเดียวกัน ได้ผลักดันการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ในจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูง โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน ผ่านแดนแบบครบวงจร มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการระยะสั้น (Quick Win) 3 เดือน ระยะกลาง 6 เดือน และระยะยาว 1 ปีขึ้นไป
สำหรับ จังหวัดที่มีมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านสูงและมีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ OSS จำนวน 10 จังหวัด และมีความพร้อมจัดตั้งได้ทันที 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด และสงขลา มีความพร้อมดำเนินการจัดตั้งได้ภายใน 3 เดือน 4 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี นครพนม และมุกดาหาร ส่วนจังหวัดจันทบุรีอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และจังหวัดสระแก้วอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารศุลกากรบ้านหนองเอี่ยน–สตึงบท คาดว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ OSS ใน 2 จังหวัดดังกล่าวได้ในปี 2568
นอกจากนี้ ได้มีการติดตามการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม เพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนส.ค.2566 ถึงปัจจุบัน มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดแล้ว 86 แห่ง จากทั้งหมด 95 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 73 แห่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการเปิดด่านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศเพื่อนบ้านให้เปิดด่านตรงข้ามกับที่ฝั่งไทยเปิดแล้วหรือมีความพร้อมที่จะเปิดด่าน
ส่วนผลการดำเนินโครงการจับคู่กู้เงิน โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ณ วันที่ 13 ต.ค.2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 1,689 ราย วงเงินรวม 6,607.9 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,649 ราย วงเงินรวม 6,444.9 ล้านบาท
นายรณรงค์ กล่าวว่า ทางด้านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย.2566 มีมูลค่า 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% และการนำเข้ามูลค่า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้ามูลค่า 26,396 ล้านบาท
และหากแยกเฉพาะการค้าชายแดน มีมูลค่า 75,704 ล้านบาท ลดลง 16.19% เป็นการส่งออก มูลค่า 48,113 ล้านบาท ลดลง 15.69% นำเข้ามูลค่า 27,591 ล้านบาท ลดลง 17.03% ได้ดุลการค้า มูลค่า 20,522 ล้านบาท และการค้าผ่านแดน มูลค่า 72,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.03% เป็นการส่งออก มูลค่า 39,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.69% นำเข้า มูลค่า 33,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.26% ได้ดุลการค้า มูลค่า 5,874 ล้านบาท
ทั้งนี้ การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศในช่วงเดือน ก.ย.2566 ไทยค้ากับมาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ลดลง ส่วนการค้าผ่านแดนกับจีน เพิ่มขึ้น แต่กับสิงคโปร์ และเวียดนามลดลง
ส่วนยอดรวม 9 เดือนปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นการส่งออก มูลค่า 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% และนำเข้ามูลค่า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท และหากแยกเฉพาะการค้าชายแดน มีมูลค่า 701,404 ล้านบาท ลดลง 12.27% เป็นการส่งออก มูลค่า 439,220 ล้านบาท ลดลง 10.02% นำเข้า มูลค่า 262,184 ล้านบาท ลดลง 15.80% ได้ดุลการค้า 177,036 ล้านบาท และการค้าผ่านแดน มูลค่า 609,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.52% เป็นการส่งออก มูลค่า 315,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.69% นำเข้ามูลค่า 293,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.42% ได้ดุลการค้า 22,002 ล้านบาท