- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 29 October 2023 17:26
- Hits: 3318
DFT ผลักดันระบบคุมสินค้าภายในภาคเอกชน (ICP) ต้านใช้สินค้าทำเป็นอาวุธทำลายล้างสูง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กรมการค้าต่างประเทศได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ผ่านการประเมินโครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) จำนวน 25 ราย และโครงการบ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) จำนวน 70 ราย ซึ่งเป็นโครงการให้ภาคเอกชนสามารถคุมสินค้าภายในเพื่อไม่ให้ถูกขาย เพื่อนำไปใช้ในการทำเป็นอาวุธทำลายล้างสูง (WMD)
โดยมีองค์กรชั้นนำหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการบิน อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ และสถาบันการเงินภาครัฐ คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
นายรณรงค์ เปิดเผยต่อว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการกำกับดูแล และควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ได้มีประกาศกรมฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2564 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญ 6 หลักเกณฑ์ ได้แก่ (1) การกำหนดความรับผิดชอบและการมอบหมายหน้าที่ในการบริหารระบบงานควบคุมสินค้า (2) ระบบตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขาย (3) ระบบการจัดฝึกอบรมให้ความรู้บุคลากรในองค์กร
(4) ระบบการดูแลและเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม (5) ระบบการตรวจสอบและ (6) ระบบการรายงาน ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้ให้ความสำคัญและผลักดันให้ผู้ประกอบการและผู้ค้าระหว่างประเทศของไทยจัดทำระบบงาน ICP มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ICP Network และ ICP In-house โดยได้ทำโครงการฯ มาแล้วจำนวน 7 รุ่น ผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้มากกว่า 400 ราย จาก 250 องค์กรชั้นนำ เพื่อสร้างเครือข่ายระบบงาน ICP ของไทยให้เข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการความช่วยเหลือระหว่างกันเพื่อพัฒนาและสร้างมาตรฐานการจัดทำระบบงาน ICP ของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
นายรณรงค์ กล่าวตอนท้ายว่า การควบคุมสินค้าภายในองค์กรจากบริษัทส่งออกไทยจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้าว่าสินค้าที่ส่งออกจากองค์กรที่มีระบบงาน ICP มีความปลอดภัย มีการตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้ายอย่างเข้มงวด อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การส่งออกสินค้าของไทยว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและการแพร่ขยาย WMD