- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 29 October 2023 16:56
- Hits: 2301
พาณิชย์ เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎออกหนังสือรับรองนำเข้ากระเทียมภายใต้ WTO
กรมการค้าต่างประเทศยก (ร่าง) กฎกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตาตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO สำหรับสินค้ากระเทียม ปี 2567 ถึงปี 2569 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์แล้ว พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่ 25 ต.ค.-8 พ.ย.66
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำ (ร่าง) ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตาตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้ากระเทียม ปี 2567 ถึงปี 2569 พ.ศ. … ตามมติคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์
และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 25 ต.ค.-8 พ.ย.2566 ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาลงนามระเบียบกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ไทยผูกพันไว้ต่อไป
“ขอเชิญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร รวมทั้งผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) กฎดังกล่าวผ่านระบบกลางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (www.law.go.th) และเว็บไซต์กรมการค้า ต่างประเทศ (www.dft.go.th) โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ DFT Call Center โทร 1385 หรือกองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร 0 2547 5095”นายรณรงค์กล่าว
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 เห็นชอบการบริหารการนำเข้าสินค้ากระเทียมตามความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO คราวละ 3 ปี (ปี 2567–2569) โดยกำหนดปริมาณในโควตา 65 ตันต่อปี อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 57 และให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าในโควตาแต่เพียงผู้เดียว
สำหรับ กระเทียมเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยผูกพันโควตาอัตราภาษีภายใต้ความตกลง WTO โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2547 เห็นชอบการเปิดตลาดสินค้าปริมาณในโควตา 65 ตันต่อปี อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 อัตราภาษีนอกโควตา ร้อยละ 57 ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป โดยให้กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบบริหารการนำเข้าได้ตามความเหมาะสมโดยประสานกับหน่วยงาน หรือคณะกรรมการนโยบายที่เกี่ยวข้องของแต่ละสินค้าในการดำเนินการ