- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 14 October 2023 17:05
- Hits: 2104
กขค.เปิดนโยบายทำงานปี 67 เดินหน้าคุมธุรกิจแพลตฟอร์ม เข้มควบรวมกิจการ
กขค.เปิดนโยบายทำงานปี 67 เดินหน้าทบทวนกฎระเบียบ รองรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ป้องกันการผูกขาดและจำกัดการแข่งขัน เตรียมกำกับดูแลพฤติกรรมการค้าไม่เป็นธรรมในธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มความเข้มกำกับดูแลการควบรวมกิจการ หลังปี 62-66 มีมูลค่ากว่า 4.27 ล้านล้าน และแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง พร้อมหามาตรการช่วย SMEs ให้แข่งขันได้ โชว์ผลงานปี 66 รับเรื่องร้องเรียน 46 เรื่อง ปรับ 25 เรื่อง และอนุญาตควบรวม 2 เรื่อง
นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยถึงทิศทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ปี 2566-67 ว่า กขค.จะมีการทบทวนกฎระเบียบและแนวทางการพิจารณาทั้งในเชิงโครงสร้างในระบบและพฤติกรรมของธุรกิจ
รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กฎระเบียบและแนวปฏิบัติภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเท่าทันกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่ต้องการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเสรีและเป็นธรรม
นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า กขค. จะมุ่งกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งอีคอมเมิร์ซ อีเซอร์วิส และอีโลจิสติกส์ โดยเฉพาะธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจในไทยและมีการขยายตัวสูง เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ไลน์ช้อปปิ้ง วีมอลล์ ติ๊กต็อก มีข้อมูลของมูลค่าธุรกิจในปีที่ผ่านมาสูงถึง 1 แสนล้านบาท
และมาพร้อมกับการจำกัดการแข่งขัน และมีการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังมีแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจในไทย แต่คนไทยใช้ เช่น อเมซอน อีเบย์ อาลีเอ็กซ์เพรส ก็ต้องดูว่าจะกำกับดูแลอย่างไร ซึ่ง กขค. จะเร่งจัดทำไกด์ไลน์ เพื่อวางระบบป้องกัน
โดยขณะนี้ กำลังศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีกฎหมายดิจิทัล มาร์เก็ต เพื่อนำมาปรับใช้ในการจัดทำไกด์ไลน์ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้เห็นและต้นปี 2567 น่าจะออกมาได้
“พฤติกรรมของแพลตฟอร์ม ที่มีการร้องเรียนเข้ามา เช่น มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม มีการกำหนดราคาขายสินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรม การบังคับให้ใช้บริการขนส่งสินค้าที่ไม่เป็นธรรม แทนที่จะให้ผู้ขายเลือกใช้ ก็จำกัดให้ใช้ขนส่งของตัวเอง
และการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางการค้า รวมไปถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณีการค้นหาสินค้า ที่จะดึงให้สินค้าของตัวเอง หรือสินค้าของบริษัทที่จ่ายเงินขึ้นมาก่อน แทนที่จะให้เป็นไปตามระบบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้ในการทำไกด์ไลน์ เพื่อกำกับดูแล”
ทั้งนี้ ยังจะเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ M&A หรือ Merger and Acquisition เพราะทิศทางการค้าในปัจจุบัน ธุรกิจมีการปรับตัวด้วยการควบรวมกิจการกันเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
โดยการควบรวมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีมูลค่ารวม 4.27 ล้านล้านบาท และแนวโน้มจะมีมากขึ้นไปอีก รวมทั้งจะหาทางส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ SMEs แข่งขันได้ เพราะที่ผ่านมา SMEs มักจะถูกผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบ หรือกีดกัน
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ได้เปิดตัวระบบฝึกอบรมและเรียนรู้ด้านการแข่งขันทางการค้า หรือ TCCT e-Learning เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและความรู้อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจประโยชน์ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา
นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการ กขค. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 มีการรับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 46 เรื่อง เช่น ธุรกิจบริการและแฟรนไชส์ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง แพลตฟอร์ม สินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงาน
โดยไม่รับเป็นเรื่องร้องเรียน 16 เรื่อง และมีการกำหนดโทษปรับทางปกครอง 25 คำสั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนการควบรวมธุรกิจ มี 28 เรื่อง เป็นการแจ้งผลการรวมธุรกิจ 26 เรื่อง มูลค่า 316,128 ล้านบาท และอนุญาตรวมธุรกิจ 2 เรื่อง มูลค่า 75,946 ล้านบาท