- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 24 September 2023 07:13
- Hits: 2539
พาณิชย์ ถกกรมป่าไม้ กรมศุลกากร ช่วยผู้ประกอบการแก้อุปสรรคส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์
กรมการค้าต่างประเทศเร่งแก้ปัญหาส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ หลังประกาศพาณิชย์ห้ามส่งออกไม้พะยูง ไม้อื่นๆ สิ่งประดิษฐ์ของไม้ ต้องขออนุญาตและมีหนังสือรับรอง ทำให้ผู้ส่งออกเจอปัญหาความล่าช้าในการออกหนังสือรับรอง
และศุลกากรขอเปิดตู้สินค้า ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม ตู้คอนเทนเนอร์ติดค้าง นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที มีมติมอบกรมป่าไม้เร่งออกหนังสือรับรองเร็วขึ้น กรมศุลกากรแตกรหัสสถิติสินค้าที่ทำจากไม้ยางเป็นการเฉพาะ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า และช่วยให้ส่งออกคล่องตัว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ว่าได้รับความล่าช้าในการออกหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ (รม.8) สำหรับ การส่งออกสิ่งประดิษฐ์ของไม้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ รวมทั้งด่านศุลกากรขอเปิดตรวจตู้สินค้า
โดยที่สินค้าที่ส่งออกซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้ยางพาราไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศกระทรวงพาณิชย์ และได้รับการยกเว้นตามรหัสยกเว้น EXEMPT 99 ของกรมศุลกากรแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีตู้คอนเทนเนอร์ติดค้างที่ด่านศุลกากร ไม่สามารถส่งออกได้จำนวนมาก
ทั้งนี้ กรมไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมศุลกากร สมาคมธุรกิจไม้ สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันแล้ว
"เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ เร่งพิจารณาลดระยะเวลาการออกหนังสือรับรองให้เร็วขึ้น และให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ป่าไม้ประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ได้นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ที่ดูแลพื้นที่เขตเท่านั้น รวมทั้งได้มอบหมายให้กรมศุลกากรพิจารณาแตกรหัสสถิติสินค้าสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้ยางพาราเป็นการเฉพาะ
และหากกรมป่าไม้ หรือกรมศุลกากร มีแนวทางแก้ไขอื่นๆ ขอให้หน่วยงานพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ภายใต้กรอบกฎหมายของหน่วยงานที่กำหนดต่อไปด้วย เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าให้กับผู้ส่งออก และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนกรมจะติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป”นายรณรงค์กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการเสนอขอให้การส่งออกสิ่งประดิษฐ์ไม้อัดพาร์ติเคิลบอร์ด ไม้โตเร็ว ได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกับไม้ยางพาราหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้ยางพารา ได้แนะนำภาคเอกชนพิจารณาจัดทำข้อมูลเสนอคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ขอปรับแก้ไขเงื่อนไขการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
ก่อนหน้านี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2566 โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามส่งออกไม้พะยูงและผลิตภัณฑ์ทุกกรณี
ในขณะที่ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด สามารถส่งออกได้ แต่ต้องขออนุญาต รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้สามารถส่งออกได้โดยแสดงหนังสือรับรองประกอบพิธีการส่งออก โดยผู้ที่จะส่งออกสามารถติดต่อที่กรมป่าไม้เพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น เพื่อขอรับใบอนุญาตส่งออกพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กรมป่าไม้กำหนด เช่น ใบกำกับสินค้า (Invoice) ภาพถ่ายสินค้า เอกสารหลักฐานแสดงว่าไม้ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น