- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 17 September 2023 16:32
- Hits: 2292
ส่งออกอัญมณี ก.ค.ลด 0.38% ชี้เป้าทำสินค้าไม่เจาะจงเพศ ใช้งานหลากหลาย มีแววได้ไปต่อ
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ก.ค.66 มูลค่า 585.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 0.38% ถือว่าทรงตัว หลังเศรษฐกิจคู่ค้าหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลง หากรวมทองคำ มีมูลค่า 806.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 24.26% รวม 7 เดือน ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 7.76% รวมทองคำ ลด 16.47% แนะผู้ส่งออกปรับรูปแบบการขาย รับตลาดชะลอตัว เน้นทำสินค้าไม่เจาะจงเพศ ใช้งานได้หลากหลาย เสนอขายสินค้าบนมือถือ จับตาเศรษฐกิจโลก น้ำมันขึ้น ฉุดกำลังซื้อ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนก.ค.2566 มีมูลค่า 585.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.38% ซึ่งถือว่าทรงตัว เมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่หลายประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว หากรวมทองคำ มีมูลค่า 806.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 24.26% และรวม 7 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 4,784.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.76% และรวมทองคำ มูลค่า 8,168.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.47%
สำหรับ ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม 163.58% ญี่ปุ่น เพิ่ม 8.59% อิตาลี เพิ่ม 42.11% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 23.14% สิงคโปร์ เพิ่ม 67.62% ส่วนสหรัฐฯ ลด 11.06% เยอรมนี ลด 48.49% สหราชอาณาจักร ลด 11.88% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 7.75% อินเดีย ลด 61.72%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 31.18% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 23.74% พลอยก้อน เพิ่ม 37.05% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 94.12% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 147.06% เพชรก้อน เพิ่ม 10.85% ส่วนเพชรเจียระไน ลด 30.89% เครื่องประดับเงิน ลด 16.60% เครื่องประดับเทียม ลด 12.53% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 19.30% และทองคำ ลด 36.63%
นายสุเมธ กล่าวว่า แม้สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 7 เดือน จะยังขยายตัวได้จากปัจจัยบวกหลายประการ ทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคบริการที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่แรงหนุนเริ่มมีการแผ่วตัวลงจากตลาดสำคัญหลายแห่งที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคสินค้าในปัจจุบัน ผู้ขายต้องลดอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนของการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อให้มีความลื่นไหล และรองรับการปรับเปลี่ยนตามกระแสได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรตอบรับด้วยการสร้างรูปแบบสินค้าให้ปราศจากข้อจำกัดมากขึ้น อย่างเช่นสินค้าที่มีคอนเซ็ปต์ไม่จำกัดเพศ สามารถสวมใส่ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใด เพื่อตอบสนองกระแสการเปิดรับความมีเอกลักษณ์สร้างตัวตนในทุกรูปแบบ หรือเครื่องประดับที่มีการใช้งานได้หลากหลาย
รวมไปถึงการออกแบบช่องทางการนำเสนอสินค้าบนสื่อออนไลน์ให้เหมาะกับทุกอุปกรณ์ โดยเฉพาะการแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้มากที่สุด เพราะสินค้าที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภค จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด
สำหรับ สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไป เพราะมีผลต่อกำลังซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงชัดเจน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 พิจารณาได้จากดัชนี PMI จาก S&P Global ที่เริ่มปรับตัวลงจากจุดสูงสุดในรอบปีที่ 54.3 จุด ในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ 50.4 ในเดือน ส.ค. แม้ว่าก่อนนี้จะได้แรงหนุนจากภาคบริการที่กลับมาเติบโตได้ดีในช่วงต้นปี แต่เริ่มมีแนวโน้มแผ่วลง
สะท้อนให้เห็นภาวะชะลอตัวจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังรุมเร้าหลายประเทศทั่วโลก ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หรือปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2567
โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะมีการชะลอตัวลงมากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังน่าเป็นห่วงจากปัญหาหลายประการที่จะทำให้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งความหวังอยู่ที่ภาครัฐในการทยอยออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน หลังจากกลุ่มโอเปกปรับลดการผลิตลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและกำลังซื้อของประชาชนในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น