- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 12 September 2023 07:28
- Hits: 2147
WIPO เร่งเจรจาคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ลุ้นสรุปปี 67 เผยไทยได้ประโยชน์เพียบ
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เร่งสรุปผลเสนอการประชุมทางการทูตปี 67 หวังปิดดีลให้ได้ หลังยืดเยื้อมานาน เผยหากสรุปได้ ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทย ได้ประโยชน์เพียบ ทั้งการได้รับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น การแบ่งปันผลประโยชน์ และเอาผิดผู้ลักลอบได้
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4-8 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา WIPO ได้จัดประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม (IGC) สมัยพิเศษ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมทางการทูตในเรื่องนี้ ที่กำหนดจัดขึ้นในปี 2567 ที่อินเดีย ตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ WIPO และต้องสรุปผลความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมให้ได้ภายในปี 2567 หลังจากสมาชิก WIPO เริ่มหารือจัดทำความตกลงมาตั้งแต่ปี 2543 โดยได้จัดตั้ง IGC รับผิดชอบเจรจา และเริ่มเจรจาครั้งแรกในปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้
สำหรับ การประชุมสมัยพิเศษครั้งนี้ หากสมาชิกสรุปผลการจัดทำความตกลงได้ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่กว้างขวางมากขึ้น และเอื้อต่อการสร้างความเสมอภาค อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ และสิทธิ์ของผู้ให้และผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การบังคับให้เปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตรจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมภายใต้ระบบสิทธิบัตร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันผลประโยชน์ การป้องกันการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ผิดพลาด การยักยอกใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรพันธุกรรมมากมาย เช่น พันธุ์พืชต่างๆ สมุนไพรไทย แต่ปัจจุบัน หลายประเทศมีการลักลอบนำสิ่งเหล่านี้ของไทยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือนำไปจดสิทธิบัตรโดยไม่ขออนุญาต และไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของที่เป็นคนไทย แต่การเจรจาจัดทำความตกลงดังกล่าว จะช่วยให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของ
ทั้งนี้ ร่างล่าสุดของความตกลง มีสาระสำคัญ เช่น 1.วัตถุประสงค์ของความตกลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และคุณภาพของระบบสิทธิบัตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ป้องกันการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ผิดพลาด 2.บังคับให้เปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตร โดยกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรต้องเปิดเผยประเทศต้นทางของทรัพยากรพันธุกรรม และหรือชุมชนท้องถิ่น ที่ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม 3.บทกำหนดโทษและการชดเชย
หากไม่เปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตร จะกำหนดมาตรการลงโทษตามกฎหมายของแต่ละประเทศ และอาจให้เพิกถอนสิทธิบัตรหรือไม่สามารถบังคับใช้สิทธิบัตรได้ 4.การจัดทำระบบข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยสำนักงานสิทธิบัตรประเทศต่าง ๆ เพื่อค้นหาและตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร เป็นต้น