- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 07 September 2023 18:50
- Hits: 1765
สนค.แนะศึกษา เรียนรู้ ดึงส่วนดี นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชาติต่างๆ มาปรับใช้
สนค.เกาะติดนโยบาย แนวทางส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศสำคัญทั่วโลก พบมีการจัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนชัดเจน หลายประเทศมีองค์กรสนับสนุน มีมาตรการด้านการเงิน และออกกฎหมายส่งเสริม หนุนไทยนำมาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญา ความรู้ และเทคโนโลยี ได้มีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
โดย UNESCO ระบุว่า ในปี 2019 เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีมูลค่า 3.891 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 3.1 ของ GDP ทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2005 และมีการจ้างงานประมาณร้อยละ 6.2 ของการจ้างงานทั่วโลก และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังมีส่วนสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) หลายเป้าหมาย อาทิ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
โดยในปัจจุบันทุกประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงมีแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป โดยแนวทางที่หลายประเทศนำมาใช้ คือ การจัดทำยุทธศาสตร์หรือนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ ออสเตรเลีย มีนโยบาย Creative Australia ที่สนับสนุนเงินทุน สิทธิประโยชน์
และการสร้างความร่วมมือกับศิลปิน ผู้ประกอบการและองค์กรศิลปะต่างๆ และในรัฐควีนส์แลนด์ได้ประกาศแนวทาง Creative Together เพื่อพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประเทศ สกอตแลนด์ จัดทำแผน Creative Industries Skills Investment Plan ที่มีการรวบรวมข้อมูลปัญหาและทิศทางความต้องการจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ
และคำนึงถึงปัจจัยเฉพาะในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ไอร์แลนด์ มีนโยบาย Creative Ireland Programme เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมทางวัฒนธรรมกับความคิดสร้างสรรค์ ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.Creative Youth ส่งเสริมศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน 2.Creative Communities ส่งเสริมชุมชนสร้างสรรค์ และ 3.Creative Nation เสริมสร้างชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ไอร์แลนด์ และเวียดนาม กำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม (The National Strategy for the development of Vietnamese cultural industries) ที่ให้ความสำคัญกับภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การโฆษณาและศิลปกรรม และการถ่ายภาพและนิทรรศการ โดยมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ทั้งนี้ บางประเทศได้จัดตั้งองค์กรที่มีภารกิจสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเฉพาะ อาทิ สหรัฐอเมริกาจัดตั้งองค์กร National Endowment for the Arts (NEA) ที่สนับสนุนแนวคิดและพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ให้กับทุกคนในประเทศ เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากศิลปะและวัฒนธรรม และอินโดนีเซีย จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Indonesia Creative Economy Agency) มีหน้าที่พัฒนาและประสานงานด้านนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากความหลากหลายในการผลักดันศักยภาพด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้สอดรับกับการเติบโตของยุคดิจิทัล
ขณะที่บางประเทศ มีการสนับสนุนมาตรการทางการเงิน โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่อุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สกอตแลนด์ จัดตั้งกองทุน Production Growth Fund เพื่อสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ และให้เงินทุนให้แก่ Creative Scotland เพื่อสนับสนุนด้านศิลปะ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ และงานสร้างสรรค์
และเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งกองทุน Creative Industries Fund NL เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการออกแบบ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านวัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture) และสื่อผสมหลายประเภท (Crossovers) โดยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม ผู้ประกอบการ และการมีส่วนร่วมของสังคม
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเชิงกฎหมาย อาทิ สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ ที่คุ้มครองสิทธิทางกฎหมายแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานแต่เพียงผู้เดียว โดยมีระยะเวลาคุ้มครองตลอดชีวิตและคุ้มครองต่อไปเป็นระยะเวลา 70 ปี หลังผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต และออสเตรเลียส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านมาตรการด้านภาษี อาทิ นโยบายสิทธิภาษีสำหรับการผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีแก่ผู้บริจาคผลงานศิลปะ
ในขณะที่อิตาลี ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ โดยรัฐบาลของแคว้น Emilia-Romagna ได้จัดตั้งและสนับสนุนเงินทุนแก่สมาคม Clust-ER Create เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางนวัตกรรม ผ่านการทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ศูนย์วิจัย และสถาบันฝึกอบรม ซึ่งเน้นการผสมผสานเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม
“กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้นำความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญา ความรู้ และเทคโนโลยี มาพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ โครงการ Design Service Society ให้บริการจับคู่ให้คำปรึกษาระหว่างผู้ประกอบการและนักออกแบบ
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ โครงการ The Pitching Season 1-3 จัดแข่งขันรูปแบบธุรกิจที่ประยุกต์ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ และงาน Bangkok International Digital Content Festival ที่สนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังทำงานบูรณาการร่วมกัน ในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล และอาจนำแนวทางของต่างประเทศมาต่อยอดประยุกต์ให้สอดรับกับบริบทของไทย เพื่อพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการและแรงงาน ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทย”นายพูนพงษ์กล่าว