- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 07 September 2023 18:30
- Hits: 1436
น้ำมันขึ้น ดันเงินเฟ้อ ส.ค.66 เพิ่ม 0.88% จับตามาตรการรัฐลดค่าครองชีพฉุดลง
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อ ส.ค.66 เพิ่ม 0.88% มีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มพลังงานเป็นหลัก ส่วนอาหารสด ทรงตัว เนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารลดลง เฉลี่ย 8 เดือน เพิ่ม 2.01% คาดแนวโน้ม ก.ย. ยังทรงตัวหรือปรับเพิ่มเล็กน้อย จับตามาตรการลดค่าครองชีพรัฐ ทั้งลดค่ารถไฟฟ้า น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม หากออกมาเร็ว จะช่วยฉุดเงินเฟ้อให้ลดลง แต่ยังต้องติดตามน้ำมัน ภัยแล้ง ความขัดแย้ง ที่จะเป็นตัวดัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนส.ค.2566 เท่ากับ 108.41 เทียบกับก.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.55% เทียบกับเดือนส.ค.2565 สูงขึ้น 0.88% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.2566 ที่ 0.38% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนของปปี 2566 (ม.ค.-ส.ค.) เพิ่มขึ้น 2.01%
โดยเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2566 ที่สูงขึ้น 0.88% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.98% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่า
โดยสารสาธารณะ เช่น เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก สองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน และค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน) ค่าแต่งผมชายและสตรี และค่ายา (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ) ราคายังคงอยู่ระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา
แต่ก็ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น เสื้อบุรุษและสตรี เสื้อและกางเกงเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว ไม้ถูพื้น) และหน้ากากอนามัย
สำหรับ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียง 0.74% ราคาชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง กระเทียม เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง) ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี ผักคะน้า)
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.2565 รวม 9 เดือนเพิ่มขึ้น 1.61%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.ย.2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ เช่น มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) ที่หากออกมาเร็ว จะช่วยฉุดให้เงินเฟ้อลดลง
และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่หากรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0–2.0% ค่ากลาง 1.5% และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง\