WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1 FTAรอบ3คืบ

ไทย-ยูเออีเจรจา FTA รอบ 3 คืบหน้าตามเป้าหมาย นัดถกรอบ 4 ที่ไทย ก.ย.นี้

ไทย-ยูเออี เจรจาจัดทำ FTA รอบ 3 คืบหน้าตามเป้าหมาย ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาภายในปีนี้ เผยประโยชน์ช่วยขยายการค้า การลงทุน สินค้าไทยจะได้ประโยชน์เพียบ ทั้งอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ไม้ ยาง และพลาสติก ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 4 ปลายเดือน ก.ย.นี้

  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ไทย–สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย.2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า ภาพรวมการเจรจาคืบหน้าด้วยดี ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า ซึ่งเป็นการประชุมระดับหัวหน้าคณะ โดยฝ่ายไทย มีตนเป็นหัวหน้าทีมเจรจา และฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีนาย Juma Mohammed Al Kait ผู้ช่วยปลัดด้านการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจยูเออี เป็นผู้รับผิดชอบการเจรจา และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ ที่มีความคืบหน้าในทุกเรื่อง และได้กำหนดการประชุมรอบที่ 4 ช่วงปลายเดือน ก.ย.2566 ที่กรุงเทพฯ เพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายตั้งไว้

สำหรับ คณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ ประกอบด้วย 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.การค้าบริการและการค้าดิจิทัล 6.ทรัพย์สินทางปัญญา 7.มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และ 9.ประเด็นด้านกฎหมาย 

นางอรมน กล่าวว่า ผลการศึกษาประเมินว่า การจัดทำ CEPA ระหว่างไทยกับยูเออี จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายผ่านการเปิดตลาด การอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดและเลิกอุปสรรคทางการค้า โดยคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกของไทยในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 190–243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,652-8,508 ล้านบาท

โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น อาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สาขาบริการที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 20,474.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.–ก.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 11,120.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปยูเออี มูลค่า 1,817.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 9,302.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญจากยูเออี เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!