- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 01 September 2023 09:09
- Hits: 2331
พาณิชย์ ตัดจบปัญหา 'ปังชา' รายอื่นใช้คำนี้ได้ เมนูน้ำแข็งไสใส่ชาก็ขายได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญาตัดจบปัญหา 'ปังชา' ยันผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้คำนี้ได้ แต่ห้ามใช้ภาพและคำในรูปแบบเดียวกันกับที่มีการยื่นจดไว้ และเมนูนำแข็งไสใส่ชา ก็ทำขายต่อไปได้ ส่วนรายที่ได้รับอนุมัติจดทะเบียน ขอให้เข้าใจใหม่ ไม่สามารถดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมาย คำว่า Pang Cha มาอ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์คนเดียวได้
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีประเด็นที่มีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับเมนู ‘ปังชา’ น้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปัง ซึ่งมีผู้ประกอบการรายหนึ่งอ้างสิทธิ์ในการได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ ว่า กรมขอทำความเข้าใจว่าเครื่องหมายการค้า ได้รับจดทะเบียนไว้แบบไหนจะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดได้ และเฉพาะการใช้คู่กับสินค้าหรือบริการที่ระบุไว้ในคำขอเท่านั้น
กรณีนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวได้ยื่นจดเครื่องหมายการค้ากับกรมไว้ 9 เครื่องหมาย ทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า’ปังชา’ และ ‘Pang Cha’ ยกเว้นคำขอเลขที่ 220133777 ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha และรูปไก่ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี โดยผู้ยื่นคำขอได้นำส่งหลักฐานว่ามีการใช้เครื่องหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กรมจึงรับจดทะเบียน โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักของกฎหมาย ผู้ประกอบการมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายนี้ตามองค์ประกอบของคำและภาพตามที่ได้รับจดทะเบียน แต่ไม่สามารถดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมาย คือ คำว่า’Pang Cha’ มาอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ขอย้ำว่า บุคคลอื่นยังสามารถนำคำนี้ไปใช้ได้ แต่ต้องไม่ใช้ทั้งภาพและคำในรูปแบบเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้รับจดทะเบียนเอาไว้แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าได้
ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการรายนี้มีการจดทะเบียนภาชนะสำหรับใส่ปังชาไว้แล้ว แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรในสูตรปังชาซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทยจึงสามารถทำขายต่อไปได้
“อยากฝากถึงผู้ประกอบการว่า การออกแบบเครื่องหมายการค้า ควรเลือกใช้คำหรือภาพที่ไม่สื่อถึงประเภท คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าและบริการที่ขาย เพราะไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในคำหรือภาพเหล่านั้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้”นายวุฒิไกรกล่าว