- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 01 September 2023 09:04
- Hits: 2174
พาณิชย์ จับมือรัฐ-เอกชน ทำลายของปลอม 1.2 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้วกว่า 1.2 ล้านชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 600 ล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า นักลงทุน และป้องกันสินค้าปลอมกลับคืนสู่ตลาด
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมประชาสัมพันธ์ สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
และสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา จัดพิธีทำการทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้วกว่า 1.2 ล้านชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 600 ล้านบาท โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนเจ้าของสิทธิ์ ผู้แทนประเทศคู่ค้าสำคัญ และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หน่วยบัญชาการ ป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก
สำหรับ ของกลางที่นํามาทําลายมีหลายประเภท เช่น เสื้อผ้า นาฬิกา รองเท้า กระเป๋า เครื่องสําอาง โทรศัพท์มือถือ อะไหล่รถยนต์ สินค้าอาหาร เป็นต้น โดยเป็นของกลางจากการจับกุมและตรวจยึดของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“การทําลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องดําเนินการอย่างโปร่งใสสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และมีการดำเนินการตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า นักลงทุน และเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาว่าสินค้าละเมิดจะไม่กลับเข้าสู่ท้องตลาดอีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้สินค้าปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน”นายวุฒิไกรกล่าว
ก่อนหน้านี้ กรมได้บูรณาการการทํางานร่วมกันกับภาครัฐและเอกชน ในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ายอมรับผลการปฏิบัติงานของไทย ดังปรากฏในรายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจําปี 2566 ที่ได้ชื่นชมต่อพัฒนาการด้านนโยบายและผลการดําเนินการปราบปรามที่เป็นรูปธรรมของไทย แต่ยังคงสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) รัฐบาลจึงพร้อมดำเนินการปราบปรามสินค้าละเมิดอย่างเข้มข้นต่อไป โดยมุ่งหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากบัญชีดังกล่าว