- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 01 September 2023 08:59
- Hits: 2034
โรงแรม-ที่พัก บูม 7 เดือนตั้งใหม่พุ่ง 51% โตตามท่องเที่ยว กฎหมายเอื้อทำธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่มีศักยภาพ พบ 'โรงแรมและที่พัก' มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ยอดตั้งใหม่ 7 เดือนปี 66 มีจำนวน 546 ราย เพิ่ม 51% ได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยเพิ่มขึ้น กฎหมายเอื้อให้นำอาคาร ห้องแถว ตึกแถว โฮมสเตย์มาทำเป็นโรงแรมได้ ทำให้เกิดธุรกิจหน้าใหม่ ชี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แนะผู้ประกอบการพัฒนาบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน นำเทคโนโลยีมาใช้นำเสนอธุรกิจ จองที่พัก เพิ่มความสะดวก
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่มีศักยภาพ หลังจากพ้นสถานการณ์ของโควิด-19 พบว่า ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเด่นชัด อัตราการเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีนิติบุคคลตั้งใหม่จำนวน 546 ราย เพิ่มขึ้น 51%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย กฎหมายเอื้ออำนวยให้ธุรกิจสามารถนำอาคาร ห้องแถว ตึกแถว หรือโฮมสเตย์มาใช้ประกอบกิจการโรงแรมได้ ทำให้เกิดนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ให้บริการโรงแรมและที่พักมีจำนวนมากขึ้น ราคาที่พักมีความหลากหลาย และยังเกิดรูปแบบใหม่ในการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์ของที่พักในแต่ละท้องถิ่น ได้ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาใช้บริการมากขึ้นสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ
“ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ยังเป็นธุรกิจแห่งโอกาสของประเทศไทย จากการที่ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับตัวในการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่มุ่งเน้นมาตรฐานตามหลักสากล การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการนำเสนอธุรกิจที่อยู่ในท้องถิ่นให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการจองที่พักที่สะดวกสบายง่ายขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อไป”นายทศพลกล่าว
สำหรับ ธุรกิจโรงแรมและที่พักในประเทศไทยที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลมีจำนวน 12,826 ราย คิดเป็น 1.45% ของธุรกิจทั้งหมด มีมูลค่าทุน 608,777 ล้านบาท คิดเป็น 2.86% ของธุรกิจทั้งหมด หรือ 21.47 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 11,359 รายคิดเป็น 88.56% มูลค่าทุนจำนวน 574,720 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากถึง 12,190 ราย คิดเป็น 95.04% นอกนั้นเป็นธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 514 ราย คิดเป็น 4.01% และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 122 ราย คิดเป็น 0.95%
โดยหากวิเคราะห์ลึกไปถึงข้อมูลงบการเงิน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ระบุได้ว่าธุรกิจโรงแรมและที่พัก สามารถปรับตัวเดินต่อได้ เพราะรายได้รวมในปีงบการเงิน 2565 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 103,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107%
และเมื่อพิจารณาถึงกำไรขาดทุน พบว่า ยังมีการขาดทุนจำนวน 24,162 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยปกติที่มีผลจากการเผชิญวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเด็นสำคัญ คือ การขาดทุนที่ลดลงกว่า 60.47% จากปีก่อนหน้า เป็นสัญญาณที่ดีบ่งบอกถึงการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและที่พักในประเทศไทย