- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 27 December 2014 08:12
- Hits: 1871
พาณิชย์ เผย น้ำมันโลกทรุดฉุดส่งออก พ.ย.57 ติดลบ 1% ชี้ ปีนี้ส่งออกเสี่ยงติดลบ แต่ปีหน้ามั่นใจส่งออกโต 4% ตามเป้า
พาณิชย์ เผย น้ำมันโลกทรุด ฉุดส่งออก พ.ย.57 ติดลบ 1%นำเข้า ติดลบ3.46% ส่งผล ขาดดุลการค้า 78 ล้านดอลล์ ชี้ปีนี้ส่งออกเสี่ยงติดลบ หาก ธ.ค.นี้ มูลค่าส่งออกไม่ถึง 19,300 ล้านดอลล์ ส่วนปีหน้ามั่นใจส่งออกโต 4% ตามเป้า
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 57 มีมูลค่า 18,568 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) (อนึ่ง เดือน ต.ค. 57 ส่งออกไทยโต 3.97%) ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,733 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ที่ร้อยละ 1.4 (YoY) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 95.5 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (มีสัดส่วนร้อยละ 4.5 ของมูลค่าการส่งออกรวม) หดตัวร้อยละ -34.2ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมามากเกินความต้องการ ของตลาดส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงประมาณร้อยละ 25.0 (YoY)
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 57 ในภาพรวมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือนที่ร้อยละ -8.5 (YoY) ตามการลดลงของการส่งออกสินค้ายางพารา อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เป็นสำคัญ โดยยางพาราหดตัวที่ร้อยละ -43.0 (YoY) เนื่องจากราคายางพาราปรับตัวลดลง จากอุปทานส่วนเกินของยางพาราในตลาดโลก และอุปสงค์ยางพารายังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สะท้อนจากดัชนีราคาส่งออกยางพาราเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ลดลงร้อยละ -18.2 (YoY) รวมทั้งจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยได้ชะลอการนำเข้า อันเนื่องมาจากปริมาณสต๊อกยางยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยลดลงร้อยละ 13.9 ขณะที่การส่งออกข้าวและน้ำตาลยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.2 และ 94.5 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขยายตัวสูงในตลาดอาเซียนและจีน เนื่องจากอุปทานน้ำตาลในตลาดโลกลดลง จากปัญหาสภาพอากาศในประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้หลายประเทศหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น
สำหรับ การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.7 โดยสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 (YoY) โดยมีอัตราขยายตัวสูงในตลาดสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามรวมทั้งการกลับมาขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน 57 ในสินค้าเครื่องปรับอากาศ และทองคำ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์
ด้าน การนำเข้าเดือน พ.ย. 57 มีมูลค่า 18,646 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.46 (YoY) (อนึ่งเดือน ต.ค. 57 การนำเข้าติดลบ 4.88%) ทั้งนี้ การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าที่ลดลงของสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งหดตัวร้อยละ -15.7 ,-10.0 และ-12.3 (YoY) โดยเฉพาะน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยหดตัวร้อยละ -29.0 (YoY) ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (ดัชนีราคานำเข้าน้ำมันดิบเดือนพ.ย.57 ลดลงร้อยละ -22.6 (YoY)) เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีมากขึ้น ในส่วนของสินค้าทุนและสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง หดตัวจากภาวะการลงทุนภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 และ1.1 ตามลำดับ เป็นสัญญาณสะท้อนแนวโน้มการส่งออก การบริโภคและการผลิตในประเทศมีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือน พ.ย. 57 กลับมาขาดดุลการค้ารวม 78.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกระยะ 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย. 57) มีมูลค่า 209,188 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -0.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 210,752 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -8.99 (AoA) ส่งผล 11 เดือน ปีนี้ไทยขาดดุลการค้ารวม 1,564 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลกประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง มีผลต่อการส่งออกของไทยมากน้อยแค่ไหน ทั้งในด้านบวกและลบ และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็นำไปหารือกับภาคเอกชน เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2558 อีกครั้ง
และยังมั่นใจว่า การส่งออกในปี 2558 จะทำได้ตามเป้า 4% โดยสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดี เช่น เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง อาหาร โดยเฉพาะเนื้อไก่ หมู และทะเล ไม่รวมกุ้ง เพราะกุ้งยังจะมีปัญหาการส่งออก เพราะได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกปีนี้ อาจติดลบ หากธ.ค.นี้ มูลค่าส่งออกไม่ถึง 19,300 ล้านดอลล์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย